Abstract:
กรมศุลกากรได้มีการนำระบบการข่าวกรองมาใช้ประกอบกับหลักการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 แต่จวบจนปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) ยังไม่เคยมีการศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากการใช้งานระบบการข่าวกรองในมุมของบุคลากรเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสืบสวนและปราบปราม งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1. เพื่อทราบถึงระดับความตระหนักรู้ด้านการข่าวของข้าราชการผู้ปฏิบัติงานด้านสืบสวนและปราบปรามของกรมศุลกากร 2. เพื่อทราบถึงความแตกต่างด้านความตระหนักรู้ด้านการข่าวของข้าราชการผู้ปฏิบัติงานด้านสืบสวนและปราบปรามของกรมศุลกากร เมื่อแบ่งกลุ่มจำแนกตามระดับตำแหน่ง ช่วงอายุ ช่วงอายุราชการ ช่วงประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านการสืบสวนและปราบปราม จำนวนครั้งที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการข่าว และสังกัดปฏิบัติงาน 3. สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ด้านการข่าวของเจ้าหน้าที่ภายในกรมศุลกากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้วิธีการวิจัยรูปแบบผสมศึกษาประชากรเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสืบสวนและปราบปรามของกรมศุลกากร ผ่านการแจกแบบสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างจำนวน 81 รายเพื่อศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 6 รายเพื่อศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัยพบว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสืบสวนและปราบปรามของกรมศุลกากรมีระดับความรู้ความเข้าใจโครงสร้างองค์การเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 55.4 มีระดับสมรรถนะด้านการข่าวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.8 และมีแนวโน้มทัศนคติด้านการข่าวในเชิงบวก โดยจำนวนครั้งที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการข่าวมีผลต่อมีแนวโน้มทัศนคติด้านการข่าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ข้อเสนอแนะจากการวิจัยมี 3 ประการ ได้แก่ 1. หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการข่าวควรมีสถานะโครงสร้างที่ชัดเจนเพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่ ซี่งจะส่งผลให้การสนับสนุนด้านการข่าวแก่หน่วยงานด้านสืบสวนและปราบปรามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 2. การจัดทำระบบเทคโนโลยีฐานข้อมูลใหม่เป็นสิ่งที่น่าริเริ่มศึกษา เนื่องจากระบบเทคโนโลยีฐานข้อมูลของกรมศุลกากรในปัจจุบันมีการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างฐานข้อมูลน้อยและไม่เอื้อต่อการใช้งาน (user - unfriendly) จนเป็นภาระต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสืบสวนและปราบปราม 3. การจัดฝึกอบรมด้านการข่าวและการสืบสวนและปราบปรามในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับพื้นฐานและระดับสูงขึ้นไปจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะที่เหมาะสมให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสืบสวนและปราบปรามที่มีระดับประสบการณ์แตกต่างกันได้