Abstract:
ปลากัดไทย Betta splendens เป็นหนึ่งในปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมในระดับโลกในงานวิจัยนี้ศึกษาการใช้โปรไบโอติกแลกติกแอซิดแบคทีเรีย 2 ชนิด ได้แก่ Lactobacillus plantarum strain SGLAB01 และ Lactococcus lactis strain SGLAB02 ที่แยกได้จากลำไส้กุ้งในการผสมในอาหารปลากัดสวยงาม และศึกษาผลของโปรไบโอติกแลกติกแอซิดแบคทีเรียต่อการแสดงออกของยีนในระบบภูมิคุ้มกันของปลากัดสวยงาม จากการวิเคราะห์ปริมาณจุลินทรีย์ที่มีชีวิตทั้งหมดจากลำไส้ปลากัดสวยงาม พบว่าโปรไบโอติกทั้ง 2 ชนิด ที่ผสมลงในอาหารปลาสามารถรอดชีวิตและยึดเกาะกับลำไส้ของปลากัดสวยงามได้ นอกจากนี้ เมื่อศึกษาทรานสคริปโตมของปลากัดไทย ผลจากการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ด้วยเครื่อง IIIumina พบว่าได้ทรานสคริปโตมขนาด 4.46 Gb ประกอบด้วย 71,775 unigenes โดย 37,694 unigenes เป็นยีนใน 44 KEGG pathway ซึ่งรวมถึง pathway ของระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ จากข้อมูลทรานสคริปโตมยังทำให้ค้นพบยีนของเพปไทด์ต้านจุลชีพจำนวน 5 ยีน จากการตรวจสอบการแสดงออกของยีน หลังจากการให้อาหารที่ผสมโปรไบโอติก พบว่าปลากัดที่ได้กินอาหารผสมโปรไบโอติกมีการแสดงออกของยีนเพปไทด์ต้านจุลชีพ Piscidin เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าโปรไบโอติกสามารถกระตุ้นยีนในระบบภูมิคุ้มกันของปลากัดได้ งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการใช้โปรไบโอติกในอาหารปลากัด และการศึกษาทรานสคริปโตมของปลากัดไทย ข้อมูลที่ได้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาในด้านเทคโนโลยีชีวภาพของอาหารปลาสวยงามในอนาคต