Abstract:
มะเร็งสมองชนิดกลัยโอบาสโตมา (Glioblastoma) เป็นมะเร็งสมองชนิดที่พบมากที่สุด และมีความรุนแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ โดยมีอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยต่ำ เนื่องจากทางเลือกของวิธีการรักษามีน้อย และผู้ป่วยมักเกิดการกลับเป็นซ้ำ นำมาซึ่งความจำเป็นในการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับชีววิทยาของเซลล์มะเร็งชนิดนี้ เพื่อเพิ่มความเข้าใจที่จะทำให้นำไปสู่หนทางการรักษาได้ในอนาคต การศึกษาวิจัยนี้ต้องการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของมะเร็งสมองชนิดกลัยโอบลาสโตมา กับการแสดงออกของยีนที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นเซลล์ต้นกำเนิด (Stemness-related genes) โดยเฉพาะ LIN28/let-7 pathway และวิถีการส่งสัญญาณในเซลล์มะเร็ง โดยมุ่งเน้นศึกษาวิถีเอ็มทอร์สอง (Mtorc2 signaling pathway) นอกจากนี้ ยังต้องการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง Mtorc2 signaling pathway ในเซลล์มะเร็งสมองกับยีนดังกล่าว โดยในการศึกษานี้ได้ทำการเปรียบเทียบคุณสมบัติของเซลล์มะเร็งกลัยโอมาชนิดเกรดสูง (U87MG) และเกรดต่ำ (H4) ได้แก่ ความสามารถในการเจริญ ความสามารถในการเคลื่อนที่การแสดงออกของยีนและการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่า ปริมาณการแสดงออกของโปรตีน LIN28B และระดับกิจกรรมของโปรตีนในวิถี mTORC2 ในเซลล์ U87MG มีความสอดคล้องกับความสามารถในการเคลื่อนที่ และความมีลักษณะคล้าย mesenchymal cells นอกจากนี้ ยังพบว่าตำแหน่งของกลุ่มโปรตีน mTORC2 ในเซลล์ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เซลล์มะเร็งสมองชนิดกลัยโอบลาสโตมามีความรุนแรงมากกว่าเซลล์มะเร็งกลัยโอมาระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ ในประชากรของ U87MG พบว่ามีลักษณะของความหลากหลายทางกายภาพสูง โดยมีเซลล์ที่มี ขนาดต่างๆ กันอยู่ในประชากร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ประชากรเซลล์ขนาดใหญ่ และประชากรเซลล์ขนาดเล็ก ซึ่งเมื่อทำการแยกเซลล์ทั้งสองประชากรออกจากกัน ก็พบว่าการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเซลล์ต้นกำเนิด (OCT4, SOX2 และ LIN28B) และยีนที่เกี่ยวข้องกับ mTORC2 (RICTOR) มีการแสดงออกที่เปลี่ยนแปลงไป และส่งผลต่อความสามารถในการเจริญ โดยหากเซลล์ประชากร ขนาดต่าง ๆ อยู่แยกจากกัน จะทำให้ความเป็นเซลล์ต้นกำเนิดและอัตราการเจริญลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะสามารถนำไปต่อยอดในการศึกษาได้ในอนาคตเพื่อเข้าใจถึงพื้นฐานและการสื่อสารภายใน เซลล์มะเร็งสมองชนิดกลัยโอบลาสโตมา รวมไปถึงมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่มีความรุนแรง เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาวิธีการรักษาแบบใหม่โดยไม่มุ่งเน้นที่การทำลายเซลล์มะเร็งเป็นหลักแต่เป็นการปรับให้ความรุนแรงของเซลล์มะเร็งลดลง