Abstract:
โพรพิลไพราโซลไตรออย (Propyl-pyrazole-triol, PPT) ยับยั้งการกินอาหารอย่างรวดเร็วโดยการกระตุ้นตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดแอลฟ่า (estrogen receptor alpha, ERα) ภายในสมอง กลุ่มผู้วิจัยได้เคยรายงานเกี่ยวกับผลการยับยั้งการกินอาหารที่รวดเร็วซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเซลล์ประสาทที่สามารถสร้าง คอร์ติโคโทรปิน รีลิ่สซิ่ง ฮอร์โมน (Corticotropin releasing hormone, CRH) ที่สมองส่วนพาราเวนตริคูล่านิวเคลียสของไฮโปทาลามัส (paraventricular nucleus of hypothalamus, PVN) โครงการวิจัยฉบับนี้ดำเนินการเพื่อศึกษาความเชื่อมโยงของ CRH ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท (neuromediator) และฤทธิ์ยับยั้งการกินอาหารของ PPT ในการทดลองแรกผู้วิจัยแสดงให้เห็นว่าภายใต้สภาวะการทดลองที่ทำการทดลองนี้ PPT ยับยั้งการกินอาหารในหนูพันธุ์วิสต้าเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ดังเช่นที่เคยถูกรายงานโดยมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ราว 3 ชั่วโมง หลังการให้สาร และเนื่องจากผู้วิจัยได้เคยรายงานแล้วว่า PPT สามารถกระตุ้นการแสดงออกของโปรตีน ซี ฟอส (c-Fos) ที่บริเวณสมองหลายนิวเคลียส แต่ผลการทดลอง ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการได้รับอาหาร การทดลองในลำดับต่อมา ผู้วิจัยทำการศึกษาผลของ PPT ต่อการกระตุ้นการแสดงออกของ c-Fos โดยที่ไม่มีการให้อาหาร ผลการทดลองพบว่าจำนวนสัญญาณ c-Fos ที่นับได้จากสมองกลุ่มที่ได้รับ PPT ไม่ต่างจากกลุ่มควบคุมในทุกบริเวณ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการให้ PPT ด้วยวิธีการดังกล่าวสามารถลดระดับของ อะดรีโนคอร์ติโคโทรปิน ฮอร์โมน (adrenocorticotropin hormone) ผู้วิจัยจึงให้เห็นผลว่าการกระตุ้น ERα โดย PPT เพียงอย่างเดียวไม่สามารถกระตุ้นการแสดงออกของ c-Fos ในสมองได้ ผู้วิจัยดำเนินการวิจัยในลำดับต่อไปโดยศึกษาระดับของ CRH จากตัวอย่างสมองส่วนนิวเคลียนสต่าง ๆ ที่สนใจทั้งจากสมองส่วนหน้าและส่วนหลังในช่วงเวลาเดียวกับที่ PPT ยับยั้งการกินอาหาร ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า PPT มิได้มีผลกระทบต่อระดับของ CRH ในทุกนิวเคลียสจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส แต่ระดับของ CRH ที่สมองส่วนท้ายบริเวณ นิวเคลียส แทรกทัสโซลิทาเรียส (nucleus tractus solitaries, NTS) จากกลุ่มที่ได้รับ PPT สูงกว่ากลุ่มควบคุม ในลำดับสุดท้าย ผู้วิจัยดำเนินการทดลองโดยใช้สารต้านตัวรับ CRH (CRH receptor antagonist, α-Helical CRF (9-41)) ปล่อยเข้าสู่สมองส่วนท้ายโดยวิธีการปล่อยสารผ่านสู่ช่องของสมองลำดับที่ 4 (the 4th cererebroventricular infusion, 4th icv) วัตถุประสงค์ของการทดลองนี้เพื่อประเมินกรณีที่ PPT ทำให้ระดับ CRH ที่สมองส่วนท้ายเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับฤทธิ์ที่ทำให้การกินอาหารลดลง เป็นที่น่าเสียใจที่ผลการทดลองพบว่าการให้ α-Helical CRF (9-41) โดยวิธีการ 4th icv อย่างต่อเนื่องเข้าสู่สมองส่วนท้ายไม่สามารถต้านฤทธิ์ของ PPT ที่มีต่อการกินอาหารได้ จากผลการทดลองทั้งหมดผู้วิจัยสรุปว่า PPT สามารถกระตุ้นเซลล์ประสาทส่วน PVN ได้ การกระตุ้นเซลล์ประสาทดังกล่าวนี้อาจทำให้ระดับของ CRH เพิ่มขึ้นที่สมองส่วนท้ายบริเวณ NTS ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการกินอาหาร