Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมในการสังเคราะห์คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (CMC) จากเปลือกมะพร้าวอ่อน เพื่อประยุกต์ใช้เป็นฟิล์มเคลือบบริโภคได้ เปลือกมะพร้าวอ่อนถูกนำมาปอกเปลือกส่วนเขียวออก ล้างในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ความเข้มข้น 200 พีพีเอ็ม หั่น อบแห้ง บด และคัดด้วยตะแกรงขนาด 60 เมช มีเปอร์เซ็นต์ผลได้ 7.82 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักมะพร้าวสด ได้ผงเปลือกมะพร้าวอ่อนบดหยาบ (RP, ขนาดเฉลี่ย 480.27 ไมครอน) 51 เปอร์เซ็นต์ และบดละเอียด (FP, ขนาดเฉลี่ย 100.55 ไมครอน) 49 เปอร์เซ็นต์ (โดยน้ำหนัก) องค์ประกอบทางเคมีของ RP ประกอบด้วย extractives 10.25 เปอร์เซ็นต์ พอลิแซ็กคาไรด์ 45.77 เปอร์เซ็นต์ ลิกนิน 35.32 เปอร์เซ็นต์ ความชื้น 6.20 เปอร์เซ็นต์ และเถ้า 2.46 เปอร์เซ็นต์ (น้ำหนักแห้ง) RP ที่ถูกต้มด้วยด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) เข้มข้น 4-10 เปอร์เซ็นต์ (น้ำหนักต่อปริมาตร) ทำให้ extractives ถูกกำจัดออกไปทั้งหมด และพบว่าลิกนินถูกกำจัดไปมากขึ้นเมื่อความเข้มข้นของด่างเพิ่มขึ้น โดยประสิทธิภาพในการกำจัดลิกนินสูงสุดเมื่อใช้ NaOH เข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นลิกนินถูกกำจัดต่อด้วยสารละลาย NaClO2 (เข้มข้น 1.0 เปอร์เซ็นต์) สลับกับสารละลาย NaOH (เข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์) ประสิทธิภาพในการกำจัดลิกนินมีค่า 87.52 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้สารละลาย NaClO2 สลับกับสารละลาย NaOH แบบ NaClO2/NaOH/NaClO2/NaOH/NaClO2 เซลลูโลสเปลือกมะพร้าวอ่อนถูกนำไปสังเคราะห์ CMC โดยใช้สารละลาย NaOH เข้มข้น 30 เปอร์เซ็นต์ ในการทำปฏิกิริยาอัลคาไลน์เซชั่น ทำให้มีค่าการแทนที่หมู่ฟังก์ชันสูงสุดที่ 1.32 และผลได้ 167.35 เปอร์เซ็นต์ การพัฒนาสูตรสารเคลือบบริโภคได้ใช้สูตรต้นแบบจากสูตรไคโตซาน/เจลาติน โดยใช้ CMC ความเข้มข้นต่างๆ พบว่าสารเคลือบทั้งหมดมีความหนืดปรากฎในช่วง 15-22 เซนติพ้อยส์ ฟิล์มของสารเคลือบมีค่าการซึมผ่านไอน้ำในช่วง 0.50×10-5-10.50×10-5 กรัม·เมตร/วัน·เมตร2·ปาสคาล การแพร่ผ่านของออกซิเจนในช่วง 9.17×10-7-43.70×10-7 กรัม/วัน·เมตร·ปาสคาล ความทนแรงดึงสูงสุดในช่วง 1.63-2.91 เมกะปาสคาล และเปอร์เซ็นต์การยืดตัวในช่วง 57.09-79.21 เปอร์เซ็นต์