Abstract:
แผ่นผนังคอนกรีตมวลเบาถูกนำมาสร้างเพื่อใช้สำหรับการแบ่งพื้นที่ภายในอาคาร ซึ่งมีความรวดเร็วกว่าการก่อฉาบผนังอิฐแบบทั่วไป การวางแผนแผ่นผนังมักจะใช้การถอดปริมาณจากพื้นที่ผนังอาคารที่ต้องการติดตั้งเทียบกับพื้นที่ของแผ่นผนัง โดยความแม่นยำของการคำนวณจำนวนแผ่นผนังขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้วางแผนที่ส่งผลให้ปริมาณแผ่นผนังแตกต่างจากการใช้งานจริง และการติดตามสถานะแผ่นผนังในปัจจุบันเป็นเพียงการติดตามโดยประมาณเฉพาะพื้นที่ที่ดำเนินการแล้วเสร็จเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดซึ่งระบุเป็นร้อยละ ดังนั้นการระบุสถานะและรายละเอียดแผ่นผนังในตำแหน่งต่างๆ ไม่สามารถทำได้อย่างตรงจุด บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอระบบการวางแผนติดตั้งแผ่นผนังคอนกรีตมวลเบา เพื่อลดระยะเวลาในการวางแผนและเพิ่มความแม่นยำในการคำนวณจำนวนแผ่นผนัง รวมถึงพัฒนาเครื่องมือในการติดตามสถานะ เพื่อระบุตำแหน่งที่ติดตั้งและแก้ไขที่ชัดเจนของแผ่นผนัง โดยระบบที่พัฒนาประยุกต์ใช้แนวคิดโมเดลข้อมูลอาคารสารสนเทศสำหรับการเตรียมการติดตั้งแผ่นผนัง ซึ่งการพัฒนาระบบประกอบด้วยการกรองค่าโมเดลแผ่นผนังผ่าน Dynamo Code การวางแผ่นผนังในโมเดลอาคาร การแสดงผลข้อมูลผ่านโมเดลสามมิติ การเตรียมข้อมูลเพื่อสร้าง Tag ของแผ่นผนัง การกำหนดแผนระยะเวลาของการติดตั้งผ่าน Dynamo Player ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับกรอกข้อมูล การติดตามสถานะผ่าน Google Form การสรุปข้อมูลติดตามผ่านโมเดลสามมิติและสเปรดชีต ผลการวิจัยจากกรณีศึกษาพบว่าระบบการวางแผนและติดตามแผ่นผนังสามารถวางแผนผนังตามช่วงผนังอาคารได้อย่างถูกต้องทั้งในกรณีของการวางแผ่นผนังขนาดเดียวกันและกรณีของการวางผสมผสานของแผ่นผนังที่มีขนาดแตกต่างกัน โดยการติดตามแผ่นผนังสามารถแสดงภาพให้เห็นได้ชัดเจนและรวดเร็วกว่าการวางแผนในรูปแบบเดิม รวมถึงสามารถระบุตำแหน่งและสถานะแผ่นผนังได้อย่างชัดเจนและถูกต้องตามตำแหน่งที่วางแผ่นผนัง