Abstract:
งานวิจัยนี้นำเสนอนโยบายการบริหารสินค้าคงคลังสำหรับธุรกิจขายสินค้าตกแต่งบ้านของบริษัทกรณีศึกษา ซึ่งมีการขายผ่านทางหน้าร้านสาขาต่างๆที่มีรูปแบบการขายที่แตกต่างกันและมีความต้องการที่ไม่แน่นอน ปัจจุบันมีการนำไปวางจำหน่ายที่หน้าร้านสาขาจำนวนมากเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการขาย ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณการจัดเก็บทั้งในส่วนของสินค้าคลังคลังบริษัทและที่สาขามีปริมาณสูง ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงได้นำเสนอวิธีการเพื่อกำหนดนโยบายคงคลังสำหรับบริหารสินค้าคงคลังของบริษัทและสาขาตามความเหมาะสมกับรูปแบบของความต้องการ งานวิจัยนี้เริ่มตั้งแต่การรวบรวมและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากนั้นทำการออกแบบนโยบายการบริหารสินค้าคงคลังของสาขา เนื่องจากเป็นคลังที่ไม่สามารถตรวจสอบระดับสินค้าคงคลังได้อย่างต่อเนื่อง และมีการคำนึงถึงข้อจำกัดและรูปแบบการขายที่แตกต่างกันของแต่ละสาขารวมไปถึงความไม่แน่นอนของปริมาณความต้องการสินค้า จึงมีการกำหนดแบบจำลองระดับคงคลังเป้าหมาย (Order-up-to Level Model: OUL) ที่มีการกำหนดรอบ (T) หรือระยะเวลาการสั่งเติมสินค้าที่แน่นอน คือ 2 และ 4 สัปดาห์ และมีเวลานำที่คงที่ คือ 1 สัปดาห์ สำหรับสาขากลุ่มที่ 1 และกำหนดรอบ (T) เท่ากับ 1 เดือน ระยะเวลานำคงที่ 1 เดือน สำหรับสาขากลุ่มที่ 2 โดยสั่งเติมปริมาณสินค้าเท่ากับ Q* ตามนโยบายที่กำหนด ด้วยระดับการให้บริการ 99.90% และสำหรับนโยบายการบริหารสินค้าคงคลังของบริษัท เนื่องจากเป็นคลังที่สามารถตรวจสอบระดับสินค้าคงคลังได้อย่างต่อเนื่อง จึงมีการนำเสนอนโยบายคงคลังแบบจำลองจุดสั่งซื้อและปริมาณการสั่งคงที่ (Order-point Order quantity Model :OPOQ) ซึ่งมีการกำหนดจุดสั่งซื้อ (Reorder Point : ROP) เมื่อระดับสินค้าคงคลังตกมาถึงระดับจุดสั่งซื้อและสั่งเติมในปริมาณคงที่ Q โดยมีระยะเวลานำการผลิต 1 เดือน และขั้นตอนต่อมาได้มีการทดสอบนโยบายคงคลังโดยใช้วิธีการจำลองสถานการณ์ความต้องการสินค้า 3 รูปแบบ 1.ทดสอบนโยบายสินค้าคงคลังด้วยการด้วยการสุ่มข้อมูลจากความต้องการจากรูปแบบการกระจายที่ได้จากข้อมูลความต้องการในอดีตของปี พ.ศ.2562-2563 2.ทดสอบความคงทนของนโยบายสินค้าคงคลัง (Robustness Analysis) โดยมีการเพิ่มปริมาณความต้องการขึ้นโดยเฉลี่ย 10% 20% และ 40% และ 3.ทดสอบนโยบายสินค้าคงคลังด้วยการใช้ข้อมูลความต้องการที่เกิดขึ้นจริงของเดือนมกราคม ถึง เมษายน ปี พ.ศ.2564 โดยวัดประสิทธิภาพจากตัวชี้วัดทางด้านการบริหารสินค้าคงคลัง คือ ระดับสินค้าคงคลังเฉลี่ย และ ระดับการให้บริการ ทั้งนี้ผลของการวิจัยพบว่าผลลัพธ์ของระดับสินค้าคงคลังของสาขาที่ 1-6 และบริษัท ลดลงจากนโยบายสั่งซื้อแบบเดิมได้ 66.29%, 75.13%, 74.33%, 34.89%, 38.42%, 35.04% และ 73.31% ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าทุกรายการสามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ตามเป้าหมาย และสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 10% สำหรับสินค้าทุกรายการ แต่เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% จะไม่สามารถทำได้ในสินค้าบางรายการ และสามารถรองรับปริมาณความต้องการที่เกิดขึ้นจริงของเดือนมกราคม ถึง เมษายน ปี พ.ศ.2564 ได้ 100% สำหรับสินค้าทุกรายการ