Abstract:
การสำรวจข้อมูลการเดินทางในครัวเรือนด้วยแบบสอบถามเป็นวิธีการสำรวจข้อมูลปริมาณการเดินทางและพฤติกรรมการเดินทางที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมีความละเอียดสูงและสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทางได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวต้องใช้ต้นทุนทั้งด้านค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการสำรวจข้อมูลอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำฐานข้อมูลทุติยภูมิขนาดใหญ่มาใช้เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทาง โดยมุ่งเน้นไปที่การอธิบายพฤติกรรมการเลือกรูปแบบการเดินทาง ด้วยการสร้างแบบจำลองเนสเต็ดโลจิตจากข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโครงการศึกษาการพัฒนานวัตกรรมระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกและการเดินทางของคนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ซึ่งผ่านกระบวนการจำแนกรูปแบบและวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาแล้ว และสามารถใช้ทดแทนการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางโดยตรงได้ โดยแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นด้วยวิธีการประเมินความพึงพอใจแบบเปิดเผยสามารถอธิบายปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกรูปแบบการเดินทางของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามวันและช่วงเวลาในการเดินทาง เช่น ระยะทาง ระยะเวลา ค่าใช้จ่าย วัตถุประสงค์ของการเดินทาง เป็นต้น และผลการศึกษาสามารถแสดงตารางจุดต้นทางและปลายทางในการเดินทางซึ่งแบ่งเป็น 209 พื้นที่ย่อย (ระดับแขวงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและระดับอำเภอใน 5 จังหวัดปริมณฑล) ตามรูปแบบการเดินทาง (รถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟชานเมือง เรือโดยสาร) ได้ตามวันและช่วงเวลาในการเดินทาง