Abstract:
จุดประสงค์ของงานวิจัยคือเพื่อศึกษาอัตลักษณ์ความเป็นชาติของประเทศรอบนอกที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือแสดงจุดยืนทางวัฒนธรรม หรือเพื่อต่อรองทางอำนาจกับประเทศใจกลางซึ่งเป็นมหาอำนาจ โดยใช้ทฤษฎีระบบโลกของเอ็มมานูเอล วอลเลอสไตน์มาอธิบายความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตัวบทบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการศึกษาคือ The Windup Girl (2010) Lagoon (2014) และ Plum Rains (2018) จากการศึกษาวิจัยตัวบททั้งสามเล่ม ค้นพบว่าอัตลักษณ์ความเป็นชาติในประเทศรอบนอกมักถูกกำหนดโดยรัฐ แฝงไปด้วยอคติทางความเชื่อและศาสนา และยังถูกใช้เป็นนโยบายเพื่อกีดกันคนในชาติไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร ใน The Windup Girl รัฐบาลไทยใช้อัตลักษณ์ความเป็นชาติเพื่อเป็นเครื่องมือในการตัดขาดจากระบบทุนและความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจเพื่อรักษาสารัตถะของความเป็นชาติไว้ ส่วนโลกอนาคตอันใกล้ของ Lagoon ทำให้เห็นว่าอัตลักษณ์ความเป็นชาติของประเทศไนจีเรียเกิดจากการผสมผสานของทรัพยากรธรรมชาติและประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ไนจีเรียใช้ต่อรองกับระบบทุนนิยมโลก และช่วยขยายอำนาจจากศูนย์กลางออกไปสู่ประชาชนในประเทศ และสุดท้าย Plum Rains แสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ความเป็นชาติถูกกำหนดโดยปัจเจก และไม่ยึดโยงกับความเป็นชาติทั้งในเชิงพื้นที่ รัฐ หรือคนหมู่มากอีกต่อไป นอกจากนี้ บทบาทของตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ซึ่งมักปรากฏในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ยังได้เข้ามาช่วยรื้อฟื้นอัตลักษณ์ความเป็นชาติในโลกอนาคตที่มีการครอบงำโดยประเทศมหาอำนาจและแนวคิดเสรีนิยมสมัยใหม่ การอยู่ร่วมกันของตัวละครที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความเป็นสารัตถะของชาติและเชื้อชาติว่า สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อความอยู่รอดของมนุษย์หรือไม่ในวิกฤตยุคโลกาภิวัตน์และการขาดแคลนของทรัพยากร และยังแสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ความเป็นชาติในอนาคตอันใกล้ไม่ได้มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางเสมอไป