Abstract:
งานวิจัยนี้ประยุกต์ใช้แบบจำลองชลศาสตร์ HEC-RAS เพื่อการจำลองและคาดการณ์การเกิดน้ำท่วม ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จนกระทั่งถึง อ.เมือง จ.อ่างทอง โดยทำการจำลองการไหลในลำน้ำแบบหนึ่งมิติ (1D) และการหลากของน้ำล้นตลิ่งในลักษณะสองมิติ (2D) ในการจำลองการไหลแบบหนึ่งมิติ ผู้วิจัยทำการเทียบมาตรฐานแบบจำลอง โดยใช้ข้อมูลอัตราการไหล ในลำน้ำที่สถานีตรวจวัด C.13 และระดับน้ำที่ C.7A พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2555 เพื่อกำหนดค่าสัมประสิทธิ์ความขรุขระแมนนิ่ง (Manning’s n) ของพื้นท้องน้ำที่เหมาะสมในการจำลองการไหลแบบไม่คงที่ในลำน้ำ สำหรับการจำลองการไหลแบบ 2 มิติ ทำการเทียบมาตรฐานแบบจำลองกับขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมจากภาพถ่ายดาวเทียมรายวัน และระดับน้ำท่วมจากจุดสำรวจ 4 ตำแหน่ง เพื่อปรับค่าการระบายน้ำออกจากพื้นที่ศึกษาด้วยค่าสัมประสิทธิ์ปรับแก้การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำและการกักเก็บปริมาณน้ำท่วมส่วนเกิน จากนั้นจึงทดสอบความสมเหตุสมผลของแบบจำลอง โดยใช้ข้อมูลอัตราการไหลในลำน้ำและขอบเขตพื้นที่น้ำท่วม พ.ศ.2551 และ พ.ศ.2552 รวมถึงระดับน้ำท่วมจากจุดสำรวจ 3 ตำแหน่งในพื้นที่ศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ค่า Nash Sutcliffe Efficiency (NSE) ของอัตราการไหลในลำน้ำอยู่ระหว่าง 0.95-0.99 และค่า root-mean-squared error (RMSE) ของความลึกน้ำท่วม 3 ตำแหน่ง อยู่ระหว่าง 0.67-0.68 เมตร เมื่อเพิ่มโครงสร้างบรรเทาการเกิดอุทกภัยในแบบจำลอง สามารถลดพื้นที่น้ำท่วม พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2550 ได้ 41.27 และ 51.49 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ โดยการเพิ่มพื้นที่แก้มลิงสามารถบรรเทาอุทกภัยได้มากที่สุด ในขณะที่การเพิ่มความสูงคันกั้นน้ำและการขุดลอกลำน้ำ ไม่สามารถลดพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังได้มากนัก ในนอกจากนี้ยังพบว่าการเพิ่มโครงสร้างบรรเทาน้ำท่วมทั้ง 3 ประเภท ทำให้พื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง มีระดับความลึกน้ำท่วมลดลง 0.1-0.15 เซนติเมตร