Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องชาติพันธุ์กับสิ่งแวดล้อมและกลวิธีทางวรรณศิลป์ในสารคดีเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ จำนวน 30 เรื่อง ตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2529 – พ.ศ. 2559 ผลการศึกษาพบว่า สารคดี กลุ่มดังกล่าวนำเสนอแนวคิดเรื่องชาติพันธุ์กับสิ่งแวดล้อม 3 แนวคิด ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์
ปกาเกอะญอกับธรรมชาติที่นำเสนอให้เห็นวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่ผูกพันใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อม แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับมิติทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นว่าการพิจารณาประเด็นสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแยกขาดจากการเข้าใจความเชื่อและวิถีปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ และแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสิทธิมนุษยชนที่ได้แสดงให้ผู้อ่านเห็นว่าชาวปกาเกอะญอได้รับผลกระทบจากวาทกรรมของภาครัฐที่มักนำเสนอว่ากลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวเป็นผู้ทำลายผืนป่าตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อพยพชาว
ปกาเกอะญอที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง
ในด้านกลวิธีทางวรรณศิลป์ พบว่า ผู้แต่งสารคดีเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอใช้กลวิธีอย่างหลากหลายเพื่อถ่ายทอดแนวคิดเรื่องชาติพันธุ์กับสิ่งแวดล้อม ประการแรก ผู้แต่งใช้ขนบการเขียนแบบชาติพันธุ์วรรณนาเพื่อนำเสนอเนื้อหาสาระผ่านข้อมูลเชิงวิชาการและข้อมูลภาคสนามจากการจดบันทึกสิ่งที่ได้จากการสังเกต การสัมภาษณ์ และการเข้าไปมีส่วนร่วม นอกจากนี้ ผู้แต่งยังนำเสนอสารสำคัญผ่านการตั้งชื่อเรื่อง การใช้บทสนทนา การแทรกคำประพันธ์ การเล่าเรื่องตามลำดับ การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของคนในและคนนอก และการปิดเรื่องแบบต่าง ๆ ประการสุดท้าย ผู้แต่งใช้กลวิธีทางภาษา ได้แก่ การใช้ภาษา
ปกาเกอะญอและโวหารภาพจน์ต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดภาพและอารมณ์ความรู้สึกอันนำไปสู่ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของ
ชาวปกาเกอะญอที่สัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง
การศึกษาแนวคิดและกลวิธีทางวรรณศิลป์ในสารคดีเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอแสดงให้เห็นคุณค่าเชิงสังคมและวรรณศิลป์ของวรรณกรรมกลุ่มดังกล่าวในด้านการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยชี้ให้เห็นว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืนมีพื้นฐานมาจากการที่มนุษย์กับธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันแบบต่างพึ่งพาอาศัย นอกจากนี้ สารคดีกลุ่มดังกล่าวยังมีส่วนช่วยลดอคติทางชาติพันธุ์ โดยนำเสนอให้เห็นความคิดเชิงนิเวศของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเพื่อโต้กลับภาพ
เหมารวมของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวในวาทกรรมของรัฐและสื่อกระแสหลัก