Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์อาบัติในภิกขุปาติโมกข์ตามหลักทฤษฎีทางทัณฑวิทยา 2 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีข่มขู่ยับยั้งและทฤษฎีแก้ไขฟื้นฟู และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างอาบัติและภาคีทั้ง 5 อันได้แก่ ชุมชนสงฆ์ ตัวพระภิกษุ เพื่อนพระภิกษุ คฤหัสถ์นอกคณะสงฆ์ และพระศาสนาตามวัตถุประสงค์ของการบัญญัติพระวินัย 10 ประการ โดยศึกษาจากพระวินัยปิฎกและอรรถกถา ผลการศึกษาพบว่า การลงโทษตามพระวินัยคือการออกจากอาบัติ 3 ลักษณะ อันได้แก่ การพ้นจากสภาพความเป็นพระภิกษุ, การประพฤติวุฏฐานวิธี, และการแสดงอาบัติ สอดคล้องกับหลักการของทฤษฎีทั้งสองโดยที่แยกจากกันไม่ได้ การลงโทษตามทฤษฎีข่มขู่ยับยั้งถือว่าเป็นการตัดโอกาส, เป็นความยุ่งยากและความลำบาก, และการทำให้อับอายตามลำดับ ในขณะที่ในมุมมองของทฤษฎีแก้ไขฟื้นฟูถือว่าเป็นการพ้นจากภิกษุภาวะเพื่อดำรงอยู่ในสถานะอื่นที่เหมาะสม, การแยกตัวผู้ต้องอาบัติออกไปจากพระสงฆ์เพื่ออบรมและขัดเกลาจิตใจ, และ การสำนึกผิด อาบัติอาจพิจารณาให้เป็นทฤษฎีใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสำนึกของผู้ต้องอาบัติเป็นสำคัญ อาบัติเป็นโทษที่มุ่งข่มขู่พระภิกษุผู้ไม่ละอายให้อยู่ในกฎเกณฑ์ตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน อาบัติก็เป็นวิธีการที่เอื้อประโยชน์ต่อพระภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชนจนถึงพระอรหันต์ให้ดำรงตนสอดคล้องกับธรรม ภาคีทั้ง 5 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียจากอาบัติมีบทบาทในการควบคุมความสำรวมในสิกขาบทและในอินทรีย์ของพระภิกษุ การศึกษาแสดงว่า การออกจากอาบัติเป็นการแก้ไขตนเอง เมื่อพระภิกษุต้องอาบัติ ต้องรีบออกจากอาบัติ