Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาการเคลือบผิวผ้าไหมด้วยไคโตซาน/ซิลเวอร์/มอนต์มอริลโลไนต์คอมโพสิต โดยซิลเวอร์คอลลอยด์ถูกสังเคราะห์ด้วยกระบวนการรีดักชันทางเคมี และกระบวนการรีดักชันด้วยแสงยูวี ผลการศึกษาพบว่าภาวะที่เหมาะสมสำหรับการเคลือบซิลเวอร์คอลลอยด์สีน้ำเงินที่เตรียมด้วยวิธีรีดักชันทางเคมี โดยใช้โซเดียมโบโรไฮไดรด์ (NaBH4) เป็นตัวรีดิวซ์ (ความเข้มข้นของซิลเวอร์ไนเตรต 0.2 มิลลิโมลาร์) บนผ้าไหมอย่างสมบูรณ์ด้วยกระบวนการจุ่มแช่และกวน โดยใช้อัตราส่วนโดยน้ำหนักของซิลเวอร์คอลลอยด์ : น้ำหนักผ้าไหม เท่ากับ 1 : 200 คือ ที่อุณหภูมิในการเคลือบ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 90 นาที โดยซิลเวอร์คอลลอยด์ถูกปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง เท่ากับ 5 ด้วยกรดแอซิติก ซึ่งผ้าไหมที่ถูกเคลือบด้วยซิลเวอร์คอลลอยด์และไคโตซานแสดงสมบัติการต้านแบคทีเรียชนิด S. aureous ได้ดีเยี่ยม และเมื่อนำไปเคลือบทับด้วยมอนต์มอริลโลไนต์ด้วยกระบวนการบีบอัดโดยใช้เครื่องบีบอัด พบว่าช่วยเพิ่มสมบัติการหน่วงไฟให้กับผ้าไหม แต่สมบัติการต้านแบคทีเรียลดลง
การสังเคราะห์ซิลเวอร์คอลลอยด์โดยวิธีรีดักชันด้วยแสงยูวี โดยการฉายแสงยูวีบนสารละลายซิลเวอร์ไนเตรตที่เตรียมร่วมกับไคโตซาน พบว่าที่เวลา 2 ชั่วโมง เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเตรียม ซึ่งแสดงสเปกตรัมการดูดกลืนแสงที่แสดงสมบัติ Localized surface plasmon resonance (LSPR) บ่งชี้การเกิดอนุภาคซิลเวอร์นาโนหลังการฉายแสงยูวี และเมื่อนำไปวิเคราะห์โครงสร้างจุลภาค พบการกระจายของอนุภาคซิลเวอร์นาโนบนพื้นผิวของผ้าไหม หลังจากนั้นนำไปเตรียมเป็นคอมโพสิตร่วมกับมอนต์มอริลโลไนต์ และเคลือบบนผ้าไหมด้วยกระบวนการบีบอัดโดยใช้เครื่องบีบอัด พบว่าผ้าไหมที่ผ่านการเคลือบด้วยไคโตซาน/ซิลเวอร์ และไคโตซาน/ ซิลเวอร์/มอนต์มอริลโลไนต์คอมโพสิต ด้วยการรีดิวซ์ด้วยแสงยูวี ให้ผลการทดสอบสมบัติการต้านแบคทีเรียและการหน่วงไฟในทำนองเดียวกันกับวิธีรีดักชันทางเคมี