Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความคิดทางการเมืองของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผ่านการแสวงหาความหมายใหม่ของ “ประชาธิปไตย” ท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่สำคัญรอบตัวของเอนกซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในห้วงเวลาต่างๆ ผลการศึกษาพบว่า เอนกมีความคิดทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ประชาธิปไตยสากลตามมาตรฐานตะวันตก เป็นระยะของการก่อตัวทางความคิดทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตยของเอนก โดยในภาพรวม เอนกได้ยึดถือคุณค่าและหลักการประชาธิปไตยสากลตามมาตรฐานตะวันตกเพื่อปรับใช้กับประเทศไทยเป็นสำคัญ, ระยะที่ 2 สองนคราประชาธิปไตย เป็นระยะที่เอนกแสดงให้เห็นถึงสภาวะทางสังคมและการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะของไทยในรูปแบบสองนคราประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ท่ามกลางการนำประชาธิปไตยแบบตะวันตกตามมาตรฐานสากลไปใช้กับการเมืองไทย, ระยะที่ 3 ประชาธิปไตยโดยประชาชน เป็นระยะที่เอนกให้ความสนใจกับประชาธิปไตยโดยประชาชน ประชาชนเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย และระยะที่ 4 ประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะของไทย ในระยะนี้ เอนกให้ความสนใจกับประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะของไทย ด้วยการนำเอาความเป็นตะวันออกและความเป็นไทย รวมถึงการมีพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จัดอยู่ในความสัมพันธ์ทางอำนาจในการเมืองไทย มาผสมผสานและปรับใช้กับความคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตก การก่อรูปและการเปลี่ยนแปลงความคิดทางการเมืองของเอนกทั้ง 4 ระยะเป็นผลจากบริบทแวดล้อมที่สำคัญรอบตัวเอนก ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในห้วงเวลาต่างๆ ทั้งจากภูมิหลังชีวิต บริบทสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นจุดเปลี่ยนหรือจุดหักเหในชีวิตหรือความคิด และกระแสภูมิปัญญาความคิดทางการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยในสังคมไทยในทศวรรษที่ 2520 – 2560