Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการนำแนวคิดการร่วมผลิตไปใช้ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนสังกัดเทศบาลในจังหวัดตรัง โดยพิจารณาถึงบทบาทของตัวแสดงหลักว่าสอดคล้องกับแนวคิดร่วมผลิตหรือไม่ พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการนำแนวคิดการร่วมผลิตไปใช้ในการจัดการศึกษาในท้องถิ่น ผู้วิจัยได้เลือกเก็บข้อมูลจากโรงเรียนสังกัดเทศบาลในจังหวัดตรัง ได้แก่ โรงเรียนสังกัดเทศบาลตำบล 1 แห่ง โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมือง 1 แห่ง และโรงเรียนสังกัดเทศบาลนคร 2 แห่ง โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจาก 3 แหล่ง คือ 1) ศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นโยบายการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนปฏิบัติการต่าง ๆ ของโรงเรียน 2) การสังเกตการณ์ในวันที่มีการเรียนการสอนปกติ และ 3) การสัมภาษณ์เชิงลึกกับตัวแทนเทศบาล ผู้บริหารโรงเรียน ครู จำนวน 15 คน และตัวแทนจากสมาชิกในชุมชน ผู้ปกครอง นักเรียน จำนวน 8 คน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ถึงมกราคม พ.ศ. 2563
ผลจากการวิจัยโดยสรุปมีดังนี้ ประการแรก การจัดการศึกษาของโรงเรียนสังกัดเทศบาลในจังหวัดตรังได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย โดยมีผู้ผลิตหลัก คือ ส่วนราชการกำกับดูแล เทศบาลต้นสังกัด โรงเรียน และผู้ร่วมผลิตได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา ข้าราชการในจังหวัด สมาชิกในชุมชน พระ/องค์กรศาสนา คหบดี ผู้ปกครอง ศิษย์เก่าฯ ผู้เรียน และหน่วยงานเอกชนอื่น ๆ โดยในขั้นของการร่วมริเริ่ม (Co-initiation) และขั้นการร่วมส่งมอบบริการ (Co-delivery) คณะกรรมการสถานศึกษา พระ คหบดี ศิษย์เก่า ผู้ปกครอง นักเรียน มีส่วนร่วมในระดับสูง (High) ขณะที่ในขั้นของการร่วมออกแบบ (Co-design) คณะกรรมการสถานศึกษาและบุคคลในชุมชนเป็นตัวแสดงสำคัญโดยมีส่วนร่วมในระดับกลาง (Medium) และท้ายสุดในขั้นการร่วมประเมิน (Co-assessment) มีคณะกรรมการสถานศึกษาศึกษาเป็นตัวแสดงสำคัญโดยมีส่วนร่วมในระดับต่ำ (Low) ผลการวิจัยประการที่สอง พบว่า โรงเรียนสังกัดเทศบาลในจังหวัดตรังได้นำแนวคิดการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น (School-Based Management for Local Development) มาใช้ ซึ่งส่งผลให้คณะกรรมการสถานศึกษาเป็นตัวแสดงที่มีบทบาทมากกว่าตัวแสดงอื่น ๆ เหตุเพราะมีลักษณะเป็นองค์กรที่เกิดจากการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย จึงจัดได้ว่าการจัดการศึกษาโดยโรงเรียนเทศบาลภายใต้แนวคิดดังกล่าว เป็นการร่วมผลิตประเภทการร่วมผลิตในรูปแบบส่วนรวม (Collective co-production)
จากข้อค้นพบดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ปัญหาในการนำแนวคิดการร่วมผลิตไปใช้ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนสังกัดเทศบาลในจังหวัดตรัง มีสาเหตุเนื่องมาจากบทบาทที่ไม่เท่าเทียมกันของบรรดาตัวแสดงต่าง ๆ ในกระบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญเฉพาะแต่กับคณะกรรมการสถานศึกษาเท่านั้น จึงนำไปสู่ข้อเสนอแนะ 2 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1 ส่งเสริมการกระทำที่ไม่เป็นทางการของทุกตัวแสดง กล่าวคือ ส่งเสริมการร่วมผลิตทั้งในรูปแบบปัจเจกบุคคล (Individual co-production) และรูปแบบกลุ่ม (Group co-production) เพื่อสะท้อนภาพความต้องการของชุมชนได้อย่างครอบคลุม แนวทางที่ 2 ส่งเสริมความเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizenship) ของนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงสร้างทัศนคติ สร้างความเข้าใจของครูผู้สอนถึงคุณค่าของการร่วมผลิตบริการสาธารณะ เพื่อเอื้อให้เกิดการร่วมผลิตที่มีความเข้มข้นสูงและตอบสนองความต้องการของพลเมืองในชุมชนอย่างแท้จริง