Abstract:
การวิจัยเรื่องการสรรหาและคัดเลือกคนพิการเป็นข้าราชการพลเรือน : กรณีศึกษาตำแหน่งนักทรัพยากรบุคคล มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่ 1) ศึกษารูปแบบ วิธีการ กระบวนการ และปัญหาอุปสรรคในการสรรหาและคัดเลือกคนพิการเข้ารับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือนผ่านการศึกษาตำแหน่งนักทรัพยากรบุคคล และ 2) เสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายในการพัฒนาหรือปรับปรุงกระบวนการสรรหาและคัดเลือกข้าราชการพลเรือนที่เป็นคนพิการ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยทางเอกสารและโดยสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง 5 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 22 คน ประกอบด้วย 1) ผู้แทนศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ. 2) ผู้แทนกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 3) นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านคนพิการ 4) ผู้แทนส่วนราชการที่จ้างงานคนพิการในตำแหน่งนักทรัพยากรบุคคล 5) คนพิการที่เข้าสอบในตำแหน่งนักทรัพยากรบุคคล จากการวิจัยค้นพบว่าแนวทางการสรรหาและคัดเลือกคนพิการ เข้าบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือน มี 2 แนวทางคือ การสรรหาและเลือกสรร และการนำรายชื่อ โดยมีลักษณะส่วนใหญ่สอดคล้องกับแนวคิดการจ้างงานที่กำหนดให้เฉพาะราย (Customized Employment : CE) ซึ่งมีลักษณะสำคัญได้แก่ 1) การเปิดโอกาสให้ส่วนราชการสามารถดำเนินการจ้างงานคนพิการได้ทุกประเภทตำแหน่งตามความเหมาะสมของตำแหน่งงาน ลักษณะงานที่ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับคนพิการ 2) เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันเองเฉพาะคนพิการ 3) เปิดโอกาสให้ส่วนราชการสามารถแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านคนพิการร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือก 4) เปิดโอกาสให้ส่วนราชการสามารถกำหนดวิธีทดสอบคนพิการได้ตามความเหมาะสม 5) กำหนดให้ส่วนราชการพิจารณาจัดทำอารยสถาปัตย์ และจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้คนพิการสามารถปฏิบัติงานได้ นอกจากนี้พบว่าการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาครัฐนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยที่ 1 การบังคับใช้ ปัจจัยที่ 2 ส่วนราชการ และปัจจัยที่ 3 ตัวของคนพิการเอง ข้อเสนอเชิงนโยบายของงานวิจัยชิ้นนี้ ได้แก่ 1) ควรจัดสรรงบประมาณสนับสนุนหรือมีมาตรการลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม 2) จัดทำฐานข้อมูลที่เชื่อมโยง 3) ออกแบบลักษณะงานที่เหมาะสมกับคนพิการและ 4) จัดทำคู่มือหรือแนวทางอธิบายลักษณะงานที่เหมาะกับคนพิการ ตลอดจนแก้ไขหลักเกณฑ์แนวทางในการจ้างงานคนพิการของสำนักงาน ก.พ. ให้มีเหมาะสมยิ่งขึ้น