Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่งในพื้นที่ริมน้ำบริเวณอำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา จากการที่รัฐบาลปัจจุบันมีโครงการแผนพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ โดยโครงการแผนพัฒนาแม่บทกินพื้นที่ริมน้ำเป็นวงกว้างครอบคลุม 4 จังหวัด (Thaipublica , 2015) หน่วยงานราชการท้องถิ่นได้นำแผนพัฒนานี้ไปดำเนินการ โดยแบ่งโครงการเป็นส่วน ๆ ซึ่งพื้นที่กรณีศึกษาดำเนินการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ แต่ส่วนหนึ่งเกิดการทรุดตัวลงสร้างความเสียหายให้ผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น จากการลงสำรวจพื้นที่โครงการรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ในแผนพัฒนาพื้นที่ริมน้ำนั้นพบว่าเกิดผลกระทบทางลบหลายด้าน โดยแบ่งออกเป็นทางกายภาพและผลกระทบทางทัศนคติ เช่น แนวเขื่อนทำให้วิถีชิวิตริมน้ำต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการมีส่วนร่วมภาคประชาชนไม่ได้เกิดขึ้นเท่าที่ควร จึงได้เกิดการตั้งคำถามถึงผลกระทบจากกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งกำหนดไว้เป็นกรอบให้หน่วยงานราชการต้องดำเนินการ โดยวิธีวิจัยเน้นการสัมภาษณ์เชิงลึกกับชุมชนริมน้ำในพื้นที่โครงการ โดยแบ่งผู้มีส่วนได้เสียเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทรุดตัว 2) ผู้อาศัยบริเวณโดยรอบเขื่อนแต่ไม่ได้รับความเสียหายและ 3) ผู้อาศัยในชุมชนใกล้เคียงกับชุมชนที่เขื่อนเกิดการทรุดตัว จากการศึกษาพบว่ากระบวนการมีส่วนร่วมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชุมชนต้องได้รับผลกระทบเหล่านั้นโดยไม่ทันตั้งตัว ผลวิจัยนี้ชี้ถึงผลกระทบจากโครงการที่ชุนชนไม่ได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐผู้ดำเนินโครงการเท่าที่ควร จึงได้นำเสนอแนวทางการมีส่วนร่วม และตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากภาครัฐในโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ เพื่อการบรรเทาผลกระทบทางลบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่งและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อื่น ๆ ต่อไป