Abstract:
การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล เพศสภาพ และสุขภาพจิตของนิสิตระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้วิจัยส่งแบบสอบถามออนไลน์และแบบกระดาษไปยังนิสิตกลุ่มดังกล่าวทั้งสิ้น 5,700 คน และได้รับชุดข้อมูลตอบกลับมาจำนวน 1,472 คน คิดเป็นร้อยละ 25.8 ของนิสิตชั้นปีที่ 1 ทั้งหมด ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมกราคม 2564 ด้วยแบบสอบถามทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามเพศสภาพ (SOGI) แบบสอบถามสุขภาวะทางจิตสังคม (Psychosocial wellbeing) และแบบสอบถามสุขภาพจิตคนไทย (TMHQ) ทำให้ชุดข้อมูลที่สมบูรณ์ตามเกณฑ์คัดเข้ามีจำนวน 1,431 คน ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา เพื่อแสดงข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง รวมถึงการวิเคราะห์ตัวแปรที่สัมพันธ์กับสุขภาพจิตด้วยสถิติ Chi-square test, Fisher’s exact test, Pearson’s correlation และ Logistic regression โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 จากกลุ่มตัวอย่างพบว่า ร้อยละ 40.8 มีอาการทางสุขภาพจิต มีอาการซึมเศร้า (34.2%) อาการวิตกกังวล (16.3%) อาการทางกาย (15.8%) และอาการโรคจิต (15.1%) ตามลำดับ ซึ่งร้อยละ 89.5 ของกลุ่มตัวอย่างสามารถปรับตัวทางสังคมได้ระดับสูง สำหรับตัวแปรที่สามารถทำนายโอกาสเกิดอาการทางสุขภาพจิตทั้ง 4 อาการ คือการมีสุขภาวะทางจิตสังคมในระดับกลางถึงต่ำ ด้านเพศสภาพ พบว่าเพศกำเนิดหญิงทำนายเกือบทุกอาการทางสุขภาพจิต ยกเว้นอาการวิตกกังวล และกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ทำนายอาการวิตกกังวล ด้านการศึกษา พบว่ากลุ่มคณะที่เรียนและความชอบในสาขาวิชาที่เรียนน้อยถึงน้อยมาก ทำนายโอกาสอาการทางสุขภาพจิตเกือบทุกด้าน อีกทั้งการมีค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอยังทำนายอาการทางกาย อาการซึมเศร้า และอาการโรคจิต โดย 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างมีอาการซึมเศร้า ซึ่งกลุ่มที่มีความหลายหลายทางเพศแบบไบเซ็กชวลเป็นกลุ่มที่มีอัตราของอาการซึมเศร้ามากที่สุด ดังนั้น ปัจจัยที่สัมพันธ์กับอาการทางสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความเพียงพอของรายได้ กลุ่มคณะ ความชอบในสาขาที่เรียน และสุขภาวะทางจิตสังคม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ควรได้รับการพิจารณาหากทำการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตของนักศึกษาชั้นปีที่ 1