Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยย้อนหลัง เพื่อศึกษาสัดส่วนการกลับเข้าทำงาน สัดส่วนการไม่สามารถกลับเข้าทำงาน และปัจจัยที่ส่งผลต่อการกลับเข้าทำงานในแรงงานสูงอายุ โดยเก็บข้อมูลทุติยภูมิจากแบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย และคำร้องขอเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 (กท.16) จากแบบคำร้องเงินทดแทนในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีอายุ 50-80 ปี ได้กลุ่มตัวอย่างจริงทั้งหมด 433 คน ผลการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่สามารถกลับเข้าทำงานได้ 432 คน (ร้อยละ 99.77) และไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ 1 คน (ร้อยละ 0.23) สามารถกลับเข้าทำงานได้โดยเฉลี่ยในเวลา 5 วัน (median survival time) และเมื่อทำการควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอื่นๆ พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยทางสถิติกับการกลับเข้าทำงาน คือ รายได้ โดยกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนมากที่สุด มีโอกาสการกลับเข้าทำงานเป็น 0.63 เท่า ของการกลับเข้าทำงานในกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด (HRadj=0.63; 95% CI: 0.45–0.89) และชนิดของการบาดเจ็บจากการมีแผลหรือการที่มีอวัยวะของร่างกายถูกตัดออก มีโอกาสกลับเข้าทำงานได้เป็น 2.78 เท่า ของกลุ่มที่มีการบาดเจ็บบริเวณศีรษะหรือเส้นประสาทหรือไขสันหลังหรือการบาดเจ็บหลายตำแหน่งหรือการบาดเจ็บชนิดอื่น (HRadj=2.78; 95% CI: 1.64–4.74) และตำแหน่งการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะหรือลำคอ มีโอกาสกลับเข้าทำงานได้เป็น 2.24 เท่าของบริเวณลำตัว (HRadj=2.24; 95% CI: 1.32–3.82) ในส่วนของอายุพบว่าอายุที่เพิ่มขึ้นทุก 1 ปี ส่งผลให้โอกาสกลับเข้าทำงานได้ลดลงร้อยละ 3.42 แต่กลับไม่พบความสัมพันธ์ของอายุกับการกลับเข้าทำงานเมื่อทำการวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยสรุป ความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ลดลงทำให้โอกาสการกลับเข้าทำงานมากขึ้น และไม่พบว่าอายุส่งผลต่อการกลับเข้าทำงานโดยตรง ดังนั้นควรทำการประเมินลักษณะงานให้เหมาะสมกับแรงงานสูงอายุ โดยหลีกเลี่ยงงานที่มีความเสี่ยงต่อการประสบอันตรายระดับรุนแรง