Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุบัติการณ์และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในผู้สูงอายุที่ได้รับการรักษาด้วย vancomycin เป็นการวิจัยภาคตัดขวาง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่ได้รับ vancomycin รูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เก็บข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2560 ถึงมิถุนายน พ.ศ. 2562 ประเมินการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันตามเกณฑ์ KDIGO และวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันโดยการวิเคราะห์ Multiple logistic regression
ผลการวิจัย กลุ่มตัวอย่างจำนวน 244 ราย เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน 64 ราย คิดเป็นอุบัติการณ์ 10.49 รายต่อ 100 ประชากรต่อปี ผลการวิเคราะห์ Multiple logistic regression พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในผู้สูงอายุที่ได้รับ vancomycin อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ค่าเฉลี่ยระดับ vancomycin ในพลาสมา ณ จุดต่ำสุด (Cave, trough) และจำนวนยาที่เป็นพิษต่อไตเมื่อใช้ร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป โดยกลุ่มที่มี Cave, trough ที่ 15.0-19.9, 20.0-24.9, 25.0-29.9 และ 30.0 มิลลิกรัมต่อลิตรขึ้นไปมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันสูงกว่ากลุ่มที่มี Cave, trough ที่น้อยกว่า 15.0 มิลลิกรัมต่อลิตร Adjusted odd ratio (ORadj) = 3.98 (95% CI: 1.24-12.78), 4.06 (95% CI: 1.24-13.35), 9.88 (95% CI: 2.77-35.19) และ 17.86 (95% CI: 4.78-66.67) ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ได้รับจำนวนยาที่เป็นพิษต่อไตเมื่อใช้ร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันสูงกว่ากลุ่มที่มีจำนวนยาที่เป็นพิษน้อยกว่า 2 ชนิด ORadj= 3.63 (95% CI: 1.62-8.11) สรุปได้ว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในผู้สูงอายุที่ได้รับ vancomycin ได้แก่ ค่าเฉลี่ยระดับ vancomycin ในพลาสมา ณ จุดต่ำสุด และจำนวนยาที่เป็นพิษต่อไตเมื่อใช้ร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป โรงพยาบาลสามารถนำผลดังกล่าวใช้พัฒนาการเฝ้าระวังการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในผู้สูงอายุที่ได้รับ vancomycin ได้