Abstract:
มะเร็งเต้านมเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายเป็นปัจจัยพยากรณ์โรคที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาการรอดชีวิตโดยรวม ปัจจัยที่มีผลต่อระยะเวลาการรอดชีวิต และ อัตราการรอดชีวิตที่ระยะเวลา 5 ปีของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายชาวไทยอยู่จำกัด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อระยะเวลาการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย โดยเก็บข้อมูลย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ป่วยที่มีข้อมูลครบถ้วนและสามารถประเมินข้อมูลระยะเวลาการรอดชีวิตได้จำนวน 790 ราย อายุเฉลี่ย 54+11.8 ปี ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.5 เป็นมะเร็งเต้านมชนิด luminal A โรคมะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่กระดูกมากที่สุดร้อยละ 70.8 รองลงมาคือที่ปอดและตับ ร้อยละ 55.7 และ 37.3 ตามลำดับ ค่ามัธยฐานของระยะเวลาการรอดชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยคือ 21.9 เดือน อัตราการรอดชีวิตที่ 1, 3 และ 5 ปี คือร้อยละ 32.3, 14.4 และ 5.6 ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์แบบหลายตัวแปรพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อระยะเวลาการรอดชีวิตโดยรวมของผู้ป่วย ได้แก่ ประเภททางโมเลกุลของโรคมะเร็ง ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปและการแพร่กระจายของโรคมะเร็งไปที่ตับ และการได้รับยาฮอร์โมนหรือยามุ่งเป้า ขณะที่อายุ ดัชนีมวลกาย การได้รับยา chemotherapy หรือสูตรยาที่ได้รับ ไม่มีผลต่อระยะเวลาการรอดชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย
ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายที่เป็นแบบตัวรับทั้งหมดเป็นบวกหรือแบบไม่มีตัวรับใดเป็นบวก, ได้รับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป, มีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งไปที่ตับ และผู้ที่ไม่ได้รับยาฮอร์โมนหรือยามุ่งเป้ามีความเสี่ยงในการมีระยะเวลารอดชีวิตโดยรวมที่สั้นกว่า ควรได้รับการวางแผนการรักษาที่เข้มข้นอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มระยะเวลาการรอดชีวิตโดยรวม