Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า ประเทศไทยมีมาตรการและกฎหมายในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง และมาตรการเหล่านั้นมีความเพียงพอเหมาะสมต่อการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้สูงอายุหรือไม่ เพื่อสะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาอันส่งผลต่อการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเสนอแนะแนวทางแก้ไขเพื่อให้การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้สูงอายุเป็นไปอย่างเพียงพอเหมาะสม
จากการศึกษาพบว่า แม้ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะมีลักษณะที่เป็นนามธรรม แต่ประกอบด้วยสารัตถะที่สำคัญสองประการ คือสิทธิในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในความเสมอภาค และเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และรับรองสิทธิผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพให้ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เป็นกฎหมายหลักในการคุ้มครองผู้สูงอายุที่กำหนดสิทธิของผู้สูงอายุด้านต่างๆ ดังนั้น บทบัญญัติแห่งกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมายจึงต้องสอดคล้องและคำนึงถึงสารัตถะอันเป็นขอบเขตของการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังกล่าว แต่จากการศึกษารัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องพบว่าแม้จะมีความพยายามในการให้ความคุ้มครองผู้สูงอายุ แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการที่ทำให้การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอและเหมาะสม อันเกิดจากตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมาย
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเสนอแนะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกฎหมายลำดับรอง เพื่อให้การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้สูงอายุมีความเพียงพอและเหมาะสม สอดคล้องกับความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญที่รับรองคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของผู้สูงอายุต่อไป