Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการในการให้ความคุ้มครองข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพราง ซึ่งการปฏิบัติการอำพรางนั้นเป็นวิธีการสืบสวนชนิดหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูง และหกาผู้ปฏิบัติการอำพรางถูกเปิดเผยข้อมูลแล้วอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตของผู้อำพรางรวมไปถึงครอบครัวด้วย จากการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547, พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งให้อำนาจในการปฏิบัติการอำพราง แต่มาตรการที่คุ้มครองข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพรางนั้นเป็นมาตรการควบคุมภายในองค์กรเท่านั้น ยังไม่มีบทบัญญัติใดให้ความคุ้มครองข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพรางจากการถูกเปิดเผยข้อมูลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันก่อให้เกิดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติการอำพรางและบ่อนทำลายประสิทธิภาพในการสืบสวนด้วย ต่อมาได้ศึกษากฎหมายของต่างประเทศ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศฝรั่งเศส และประเทศออสเตรเลีย ว่ามีแนวทางใดในการคุ้มครองข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพราง พบว่าประเทศเหล่านั้นใช้มาตราการลงโทษทางอาญาและได้กำหนดให้การเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติการอำพรางหรือข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพรางเป็นความผิดซึ่งมีโทษจำคุกและโทษปรับหนักเบาตามพฤติการณ์ ด้วยเหตุนี้ จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547, พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยเพิ่มบทบัญญัติห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพราง เพื่อเป็นการป้องกันและคุ้มครองบุคคลผู้ที่ต้องปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตรวมไปถึงครอบครัวจากการถูกเปิดเผยข้อมูลจากการปฏิบัติการอำพราง และช่วยให้ผู้ปฏิบัติการอำพรางมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่จนบรรลุงวัตถุประสงค์ในการอำพรางได้