Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาปัญหาในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลการชุมนุมสาธารณะในประเทศไทย และการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยองค์กรตุลาการ โดยศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศประกอบกับหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 (General comment) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งสามารถนำมาใช้ในฐานะตัวอย่างการใช้ดุลพินิจในการดูแลการชุมนุมสาธารณะและตัวอย่างการตีความกฎหมายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและองค์กรตุลาการ ตลอดจนศึกษาปัญหาการตรวจสอบดุลพินิจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลการชุมนุมสาธารณะโดยองค์กรตุลาการภายใต้หลักความจำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตยและความได้สัดส่วน และการตรวจสอบดุลพินิจที่ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณากฎหมายต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และเกาหลีใต้ประกอบกับหลักสากล พบว่าโครงสร้างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะในเรื่องดุลพินิจกลับบัญญัติขอบเขตในการใช้ดุลพินิจไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีกระบวนการตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการที่เข้ามามีบทบาทในการสร้างกลไกหรือแนวทางการใช้ดุลพินิจให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้หลักความจำเป็นและหลักความสัดส่วนทำให้สิทธิมนุษยชนของประชาชนได้รับความคุ้มครอง
จากการศึกษาพบว่า การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลการชุมนุมสาธารณะในประเทศไทยถูกใช้ไปอย่างไม่มีมาตรฐานตามหลักสากล และมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ อีกทั้ง ยังพบปัญหาโครงสร้างทางกฎหมายของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะในเรื่องดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะที่การตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยองค์กรตุลาการยังมีบทบาทน้อยมาก กล่าวคือ องค์กรตุลาการยังมีบทบาทไม่เพียงพอในการนำหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วนมาใช้ตรวจสอบดุลพินิจเจ้าหน้าที่ตำรวจ และปัญหาการตรวจสอบดุลพินิจที่ผิดพลาดซึ่งศาลยุติธรรมมักจะมองข้ามการนำมาพิจารณาดุลพินิจ ด้วยเหตุเหล่านี้จึงส่งผลให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนชาวไทยถูกลิดรอนเกินสมควร