Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขอบเขตของความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยมุ่งศึกษาปัญหาในการบังคับใช้ รวมถึงแนวความคิดและเจตนารมณ์ในการบัญญัติความผิดฐานฟอกเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดตามมาตรา 5 (3) และนิยามของ "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ. 2558 อีกทั้งยังศึกษาขอบเขตการบังคับใช้และการบัญญัติความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรฐานสากล เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบและเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปรับปรุงความผิดฐานฟอกเงิน
จากการศึกษาพบว่าความผิดฐานฟอกเงินในประเทศไทยมีการนำไปบังคับใช้เป็นจำนวนน้อย เนื่องจากความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมายว่าการตีความความหมายของความผิดอาญาฟอกเงินนั้นกว้างแค่ไหน อย่างไร โดยสาเหตุของปัญหาดังกล่าวมีที่มาจากการแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ที่เพิ่มเติมลักษณะของการกระทำความผิดตามมาตรา 5 (3) ที่มีขอบเขตความรับผิดที่กว้างขวางและไม่ชัดเจน มีลักษณะของการกระทำที่อาจไปทับซ้อนกับการกระทำความผิดมูลฐาน อันนำไปสู่การลงโทษซ้ำหรือลงโทษไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดได้ อีกทั้ง ในการแก้ไขครั้งดังกล่าวยังได้มีการแก้ไขนิยามของ “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ให้มีขอบเขตกว้างเกินไปกว่าที่พันธกรณีระหว่างประเทศกำหนด จนทำให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้ได้
ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงเสนอให้มีการแก้ไของค์ประกอบความผิดฐานฟอกเงินดังกล่าว โดยกำหนดให้ความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 (3) ไม่นำไปบังคับใช้กับผู้กระทำความผิดมูลฐานเพื่อป้องกันการลงโทษซ้ำ หรือการลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ อีกทั้ง ยังแก้ไขวัตถุแห่งการกระทำความผิดให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และกำหนดเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษในบางกรณี เพื่อเป็นการจำกัดขอบเขตที่กว้างขวางของความผิดฐานฟอกเงิน ลดการบังคับใช้โทษทางอาญา และทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น