Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องการให้อำนาจอนุญาโตตุลาการในการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว และบทบาทของศาลในการให้ความช่วยเหลืออนุญาโตตุลาการในมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว โดยศึกษาจากกฎหมายแม่แบบ ปี ค.ศ. 1985 และปี ค.ศ. 2006 กฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการอังกฤษ สิงคโปร์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน นำมาเปรียบเทียบกับกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการไทย พบว่ากฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการอังกฤษและสิงคโปร์ได้บัญญัติให้อำนาจอนุญาโตตุลาการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไว้อย่างชัดเจน แม้ประเทศอังกฤษจะไม่ได้รับเอากฎหมายแม่แบบมาเป็นแบบในการร่างกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการก็ตาม ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้นำกฎหมายแม่แบบมาเป็นแบบในการร่าง โดยกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการสงวนอำนาจในการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไว้กับศาล แต่หากคู่พิพาทยินยอมให้อนุญาโตตุลาการมีอำนาจในการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว อนุญาโตตุลาการก็มีอำนาจเช่นว่านั้น สำหรับประเทศไทย แม้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีกฎหมายแม่แบบ ปี ค.ศ. 1985 เป็นแบบในการร่างแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติให้อำนาจอนุญาโตตุลาการในการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับกฎหมายแม่แบบ ทำให้เกิดปัญหาการตีความเรื่องอำนาจในการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของอนุญาโตตุลาการ และการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่ออกโดยอนุญาโตตุลาการ ผู้ศึกษาจึงเสนอแนะให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โดยแก้ไขมาตรา 16 เพื่อให้อนุญาโตตุลาการมีอำนาจอย่างชัดเจนในการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว พร้อมกำหนดประเภทของมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่อนุญาโตตุลาการสามารถออกคำสั่งได้ และให้ศาลยอมรับและบังคับใช้มาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่ออกโดยอนุญาโตตุลาการ