Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิวัฒนาการและแนวคิดของการกำหนดความผิดทางอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์ของประเทศไทย ตามที่ปรากฏใน กฎหมายมังรายศาสตร์ กฎหมายตราสามดวง กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 และประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน รวมถึงศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษ ประเทศอินเดีย และประเทศฝรั่งเศสโดยอธิบายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ รวมถึงสภาพสังคม การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เพื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบในการกำหนดความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองกรรมสิทธิ์ ตลอดจนสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดมาทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของบุคคลอื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย อีกทั้งมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายและสังคมวิทยากฎหมายพบว่า การกำหนดความผิดทางอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย อาณาจักรล้านนาซึ่งเป็นอาณาจักรใกล้เคียง สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยแปรผันตามปัจจัยด้านสังคม การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนมีอิทธิพลต่อการวิวัฒน์ของกฎหมาย วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ศึกษาถึงแนวความคิดของการบัญญัติความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์โดยแบ่งช่วงการศึกษาออกเป็นสองช่วง คือ ช่วงยุคกฎหมายก่อนสมัยใหม่ และช่วงยุคกฎหมายสมัยใหม่ โดยถือเอาช่วงการปฏิรูปกฎหมายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกําหนดความผิดของแต่ละประเทศในแต่ละช่วงเวลาได้
ทั้งนี้การศึกษาพบว่า แนวความคิดการกําหนดความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ของประเทศไทย และต่างประเทศมีความคล้ายคลึงกันในแต่ละยุคสมัย โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองเปลี่ยนแปลงไปจากการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของผู้ปกครอง หรือทรัพย์สินที่มีความสำคัญต่อชุมชนหรือรัฐ มาเป็นการมุ่งคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของเอกชนเพื่อผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของเอกชนและรัฐ อีกทั้งมีการแยกความรับผิดทางแพ่งและความรับผิดทางอาญาออกจากกันอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปกฎหมายของแต่ละประเทศยังคงมุ่งคุ้มครองทรัพย์สินบางประเภทที่มีความสำคัญตั้งแต่ครั้งอดีตกาล การกำหนดความรับผิดทางอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์จึงมิได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กัน อันมีผลต่อแนวความคิดในการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ และสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของบุคคล ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนของการปฏิรูปกฎหมายของแต่ละประเทศแตกต่างกันกล่าวคือ ประเทศฝรั่งเศสเกิดจากสภาวะการขับเคลื่อนภายในประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการปกครอง ในขณะที่ประเทศอังกฤษเกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประเทศไทยเกิดจากสภาวะกดดันทางอ้อมในด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต่างจากประเทศอินเดียซึ่งการปฏิรูปเกิดจากสภาวะการบังคับโดยตรงเนื่องจากอยู่ภายใต้อาณานิคม