Abstract:
งานวิจัยเรื่อง กรรมวิธีการสร้างซอด้วงของเรือตรีชัยนรินทร์ แถมมีทรัพย์ (ช่างนาคร) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากรรมวิธีการสร้างซอด้วง และศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพเสียงของซอด้วง ของช่างนาคร รวมไปถึงการเก็บข้อมูลศึกษาบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซอด้วง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า เมื่อปี พ.ศ. 2532 ช่างนาคร เป็นช่างที่มีความสามารถในการสร้างเครื่องดนตรีไทยทุกประเภท ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ฝีมือด้านงานช่างและการสร้างซอด้วงจากครูจรินทร์ กลิ่นบุปผา ทำให้มีประสบการณ์ทางด้านงานช่างจนสามารถเปิดโรงงานอุตสาหกรรมในการผลิตเครื่องดนตรีไทย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. 2548 ในระยะเริ่มต้นช่างนาครศึกษาแบบจากกระสวนซอด้วงดุริยบรรณ และได้พัฒนาสัดส่วนจนได้รูปทรงที่เป็นแบบเฉพาะของช่างนาคร โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนสามารถซื้อไว้ฝึกซ้อมในราคาย่อมเยา คุณภาพเสียงตรงตามเสียงในอุดมคติของซอด้วงคือเสียงอ้อ และเสียงแก้ว ช่างนาคร ใช้ไม้ชิงชัน ไม้มะเกลือ ไม้มะริด ไม้กระพี้เขาควาย และไม้ประดู่ อุปกรณ์ที่ใช้มี 51 ชิ้น มีกรรมวิธีการสร้างทั้งหมด 8 ขั้นตอน ได้แก่ การกลึงลูกบิด การกลึงคันทวนซอด้วง การกลึงคันชักซอด้วง การกลึงกระบอกซอด้วง การขึ้นหนังหน้าซอด้วง การทำสีและเคลือบเงา การขึ้นหางม้า การประกอบซอด้วง ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพเสียงซอด้วง คือการคัดสรรวัสดุที่มีคุณภาพตั้งแต่การคัดเลือกไม้และหนังงู การกลึงกระบอกซอด้วงที่มีขนาดรูปทรงที่พอดี การกลึงรูเท้าเหยียบและการบากขอบกระบอกซอเพื่อขึ้นหนังหน้าซอด้วง ซอด้วงของช่างนาคร มีแก้วเสียง นุ่มนวล ตามเสียงซอด้วงในอุดมคติ ดังที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีไทยได้ให้คำนิยามไว้