Abstract:
การศึกษาวิจัยเรื่องการสร้างสรรค์บทเพลงเทิดพระเกียรติชุด พระแม่อยู่หัวของแผ่นดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการประพันธ์เพลงชุดพระแม่อยู่หัวของแผ่นดินและเพื่อสร้างสรรค์ผลงานด้านดุริยางคศิลป์ไทยในบทเพลงชุด พระแม่อยู่หัวของแผ่นดิน ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการศึกษาข้อมูลเอกสารและสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดุริยางศิลป์ ผลการวิจัยพบว่า พระราชประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ จำแนก 6 ด้านได้แก่ ด้านความมั่นคงของชาติ ด้านการอนามัยและสังคมสงเคราะห์ ด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านศิลปาชีพ ด้านการศึกษา และด้านศิลปวัฒนธรรม
วิธีการประพันธ์ยึดหลักการประพันธ์เพลงไทยอันสื่อถึงบทเพลงแห่งความมงคล สื่อพระราชประวัติช่วงต่าง ๆ ใช้กลวิธีบรรเลงลักษณะบรรยายเรื่องราว แบ่งทำนองออกเป็น 4 ช่วง รวม 9 บทเพลง ได้แก่ เพลงแรกแย้ม เพลงพระราชประวัติ 3 ท่อน (ท่อน 1 เสียงของแม่ ท่อน 2 แผ่ไทยผอง ท่อน 3 ชนซาบซึ้ง) เพลงพระราชกรณียกิจ 6 เพลงได้แก่ เพลงแดนดิน เพลงแพทย์หลวง เพลงอนุรักษ์ เพลงสืบศิลป์ เพลงดินสอ เพลงมรดก และส่วนสุดท้ายเป็นช่วงเพลงสรรเสริญ ได้แก่ เพลงพระแม่อยู่หัวของแผ่นดิน โดยมีวิธีการประพันธ์ทำนองเพลง 3 รูปแบบ รูปแบบแรก การนำทำนองต้นรากส่วนหนึ่งของบางเพลง นำมาเป็นทำนองสัญลักษณ์ในการประพันธ์เพลงใหม่ ได้แก่ เพลงกราวรำ สองชั้น เพลงลาวดวงเดือน เพลงเต่ากินผักบุ้ง เพลงเต่าเห่ ประพันธ์ทำนองเพลงใหม่ได้แก่ เพลงแรกแย้ม (เพลงกราวรำ สองชั้น) เพลงพระราชประวัติ ท่อน 1 เพลงเสียงของแม่ (เพลงใกล้รุ่ง) เพลงพระราชประวัติ ท่อน 2 เพลงชนซาบซึ้ง (เพลงเต่าเห่) เพลงขับไม้บัณเฑาะว์ (เพลงดินแดน) เพลงมรดก (เพลงลาวดวงเดือน) และเพลงพระแม่อยู่หัวของแผ่นดิน (เพลงเต่ากินผักบุ้งและเพลงเต่าเห่) รูปแบบที่สอง การอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9 ได้แก่ เพลงใกล้รุ่งและเพลงสายฝน มาเป็นต้นรากในการประพันธ์ ได้แก่ เพลงพระราชประวัติ เพลงที่ 1 คือเพลงเสียงของแม่ (เพลงใกล้รุ่ง) และเพลงแพทย์หลวง (เพลงสายฝน) และรูปแบบสุดท้ายประพันธ์ขึ้นโดยอัตโนมัติจากจินตนาการตามพระราชกรณียกิจ ได้แก่ เพลงพระราชประวัติ เพลงที่ 2 เพลงแผ่ไทยผอง เพลงแพทย์หลวง เพลงอนุรักษ์ เพลงสืบศิลป์ และเพลงดินสอ
วงดนตรีที่ใช้บรรเลงได้แก่ วงปี่พาทย์ไม้นวมและวงดนตรีประยุกต์ร่วมสมัย โดยประสมวงด้วยเครื่องสีของไทยเป็นหลัก มีเครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมตกแต่งทำนองเพลง พร้อมด้วยเครื่องกำกับจังหวะหน้าทับและเครื่องประกอบจังหวะของไทย ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ ระนาดเอก ขลุ่ยเพียงออ ตะโพน โทนรำมะนา ฉิ่ง เชลโล ดับเบิลเบส เปียโน และ ฮอร์น