Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาย้อนหลังแบบพรรณนาเชิงทำนาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระยะเวลาการมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจครั้งแรกของผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม และศึกษาปัจจัยทำนายระยะเวลาการมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจครั้งแรกของผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมจากปัจจัยด้านอายุ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ความกลัวการวินิจฉัยและการรักษา และการได้รับแรงสนับสนุนทางสังคม กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมทุกระยะของโรคที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกศัลยกรรม คลินิกเต้านม แผนกรังสีรักษา และแผนกเคมีบำบัด โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จำนวน 41 คน และโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี จำนวน 69 คน รวม 110 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 5 ส่วน ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบบันทึกระยะเวลาการมาโรงพยาบาล 3) แบบประเมินความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม 4) แบบสอบถามความกลัวการวินิจฉัยและการรักษา 5) แบบสอบถามการได้รับแรงสนับสนุนทางสังคม ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน มีค่าดัชนีความตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ 1.00, 1.00, .83, .92, .78 ตามลำดับ ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .88, .81 ตามลำดับ แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมมีค่า KR-20 เท่ากับ 0.70 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการศึกษา พบว่า 1) ระยะเวลาการมาโรงพยาบาลของผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมตั้งแต่พบอาการผิดปกติครั้งแรกจนกระทั่งมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจครั้งแรกมีระยะเวลาเฉลี่ย 119.45 วัน 2) ปัจจัยที่ทำนายระยะเวลาการมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจครั้งแรกของผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม ประกอบด้วย 2 ตัวแปร ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม (Beta=-.447) และการได้รับแรงสนับสนุนทางสังคม (Beta=-.236) สามารถร่วมกันทำนายระยะเวลาการมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจครั้งแรกของผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ ร้อยละ 24.7 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สำหรับปัจจัยด้านอายุ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความกลัวการวินิจฉัยและการรักษา ไม่สามารถทำนายระยะเวลาการมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจครั้งแรกของผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมได้