Abstract:
การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการทำกิจกรรมทางกายของผู้ป่วยที่ได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวร และปัจจัยที่สัมพันธ์กับกิจกรรมทางกายของผู้ป่วยที่ได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวร ได้แก่ อายุ การรับรู้สมรรถนะแห่งตน การรับรู้ประโยชน์ การรับรู้อุปสรรค การสนับสนุนทางสังคม และความแตกฉานทางสุขภาพ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรทั้งเพศชายและเพศหญิง อายุ 18 ปี ขึ้นไป ที่มารับบริการ ณ คลินิกเครื่องกระตุ้นหัวใจในโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำนวน 110 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล
2) แบบสอบถามกิจกรรมทางกาย 3) แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการทำกิจกรรมทางกาย 4) แบบสอบถามการรับรู้ประโยชน์ของการทำกิจกรรมทางกาย 5) แบบสอบถามการรับรู้อุปสรรคของการทำกิจกรรมทางกาย 6) แบบวัดการสนับสนุนทางสังคมเพื่อการทำกิจกรรมทางกาย และ 7) แบบสอบถามความแตกฉานทางสุขภาพเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย เครื่องมือผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ได้ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาในชุดที่ 2 – 7 เท่ากับ 1.00, 1.00, 0.97, 1.00, 1.00, และ 1.00 ตามลำดับ และค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคชุดที่ 2 – 7 เท่ากับ 0.76, 0.88, 0.95, 0.84, 0.89, และ 0.87 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย สถิติสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และสถิติสหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน ผลการวิจัยพบว่า 1. ผู้ป่วยที่ได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรมีค่าเฉลี่ยการทำกิจกรรมทางกาย เท่ากับ 6.82 (S.D. = 2.25) 2. การรับรู้สมรรถนะแห่งตน การรับรู้ประโยชน์ การสนับสนุนทางสังคม และความแตกฉานทางสุขภาพ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับกิจกรรมทางกายในผู้ป่วยที่ได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
(r = 0.448, Spearman rho = 0.339, 0.217, และ 0.459 ตามลำดับ) 3. อายุ และการรับรู้อุปสรรค มีความสัมพันธ์ทางลบกับกิจกรรมทางกายในผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (Spearman rho = - 0.467, และ r = - 0.312)