Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายประสบการณ์การเจ็บป่วยของผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโรคโควิด 19 โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพตามแนวคิดปรากฏการณ์วิทยาของ Husserl Phenomenology ผู้เข้าร่วมวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุที่เคยเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 จำนวน 16 ราย เก็บข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกและบันทึกเทป ข้อมูลที่ได้นำมาถอดเทปแบบคำต่อคำและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ตามวิธีการของโคไลซีย์ (Colaizzi)
ผลการศึกษาวิจัยพบว่าประสบการณ์การเจ็บป่วยของผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโรคโควิด 19 สรุปได้ 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. ประสบการณ์การรับรู้อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อย 1.1) อาการแรกเริ่ม ไม่ได้คิดว่าจะเป็นไม่รู้ติดมาจากไหน 1.2) มันเหนื่อยมาก หายใจไม่ออก แทบทนไม่ไหว และ 1.3) ร่างกายไม่เหมือนเดิม มีผลตามมาภายหลังการเจ็บป่วย
2 .ประสบการณ์ในการเข้ารับการรักษา ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย 2.1) รู้สึกโชคดี เข้าถึงการรักษา จึงรอดตาย 2.2) ถูกจำกัดให้อยู่แต่ในห้อง ทำกิจกรรมทุกอย่างบนเตียง 2.3) ได้รับการดูแลผ่านกล้องวงจรปิดและพูดคุยผ่านลำโพง และ 2.4) ได้รับการดูแลที่ขาดสัมพันธภาพกับผู้ดูแล
3. หลากอารมณ์ หลายความรู้สึกภายในใจ ประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อย 3.1) กังวล กลัวว่าจะไม่รอด 3.2) รู้สึกว้าเหว่ โดดเดี่ยว และ 3.3) ปล่อยวาง ยอมรับและเข้าใจสภาพตามอายุที่เพิ่มขึ้น
4. ประสบการณ์ในการกลับเข้าสู่สังคม ภายหลังที่หายจากการเจ็บป่วย ประกอบด้วย 5 ประเด็นย่อย4.1) ถูกรังเกียจ เดินหนี ไม่พูดคุย 4.2) ได้รับความห่วงใยและกำลังใจจากคนใกล้ตัว 4.3) ปรับตนเองในการดำเนินชีวิต เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 4.4) ใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น และ 4.5) คิดทบทวนเกี่ยวกับชีวิตในอนาคต
ผลการวิจัยครั้งนี้ทำให้เข้าใจประสบการณ์การเจ็บป่วยของผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโรคโควิด 19 มากขึ้น โดยผลการวิจัยสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดการปัญหาความเจ็บป่วยของผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19และสามารถนำไปพัฒนาการพยาบาลแบบองค์รวม