Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและหาความสัมพันธ์ระหว่างเพศ รายได้ สถานะการสูบบุหรี่ ภาวะโรคร่วม (โรคหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ภาวะกรดไหลย้อน) อาการทางจมูกและอาการที่เกี่ยวข้องกับประสาทรับกลิ่น คุณภาพการนอนหลับ และการรับรู้ความสามารถในการควบคุมโรคกับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังทั้งเพศชาย และเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 18-65 ปี มีอาการไซนัสอักเสบเรื้อรังมากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไปที่เข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยนอกหรือคลินิกที่มีแพทย์เฉพาะทางโรคด้านนาสิกวิทยาและภูมิแพ้ โรงพยาบาลตติยภูมิขึ้นไป 3 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 143 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการรักษา 2) แบบสอบถามอาการทางจมูกและอาการที่เกี่ยวข้องกับประสาทรับกลิ่น 3) แบบสอบถามคุณภาพการนอนหลับ 4) แบบสอบถามการรับรู้ความสามารถในการควบคุมโรค และ 5) แบบสอบถามคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ แบบสอบถามทุกฉบับได้ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 ท่าน และตรวจสอบความเที่ยงด้วยวิธีคำนวนค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคเท่ากับ 0.83, 0.73, 0.77 และ 0.91 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน และสัมประสิทธิ์ Eta
ผลการวิจัยพบว่าคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังอยู่ในระดับต่ำทั้ง 8 มิติ ได้แก่ การรับรู้สุขภาพทั่วไป ความเจ็บปวด บทบาทที่ถูกจำกัดเนื่องจากปัญหาด้านอารมณ์ บทบาทที่ถูกจำกัดเนื่องจากสุขภาพทางกาย พลังงาน สุขภาพจิตทั่วไป การทำหน้าที่ทางสังคม และการทำหน้าที่ทางกาย (ร้อยละ 50.3, 35.7, 35.7, 32.2, 28.0, 19.6, 10.5, และ 9.1 ตามลำดับ)
คุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี อาการทางจมูกและอาการที่เกี่ยวข้องกับประสาทการรับกลิ่น มีความสัมพันธ์ทางลบกับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันเท่ากับ -.479 และ -.439 ตามลำดับ ในขณะที่การรับรู้ความสามารถในการควบคุมโรค มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันเท่ากับ .306
รายได้มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมนเท่ากับ .148 ในขณะที่โรคหืดและสถานะการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มีค่าสัมประสิทธิ์ Eta เท่ากับ .204 และ .123 ตามลำดับ