Abstract:
การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความใส่ใจแบบแบ่งแยกสำหรับเด็กที่มีภาวะสมองพิการ กลุ่มตัวอย่างได้แก่กลุ่มเด็กที่มีภาวะสมองพิการแบบแข็งเกร็งครึ่งท่อน อายุ 7-12 ปี จำนวน 35 คน แบ่งเป็นชาย 21 คน หญิง 14 คน และกลุ่มเด็กปกติ อายุ 7-12 ปี จำนวน 35 คน แบ่งเป็นชาย 18 คน หญิง 17 คน ผู้วิจัยนำข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างมาวิเคราะห์ข้อมูลผ่านสถิติพรรณาและตรวจสอบค่าความเที่ยงด้วยวิธีการทดสอบแบบคู่ขนาน (Parallel Form Method) เพื่อตรวจสอบค่าสัมประสิทธิ์ของความสมมูล (Coefficient of Equivalence) และความสอดคล้องระหว่างผู้ประเมิน (Inter-rater) ด้วยสัมประสิทธิ์แคปปา (Kappa coefficient) และตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาด้วยค่าดัชนีความสอดคล้องของแบบประเมินกับจุดประสงค์ (Index of Item-Objective Congruence หรือ IOC) และตรวจสอบความตรงเชิงสภาพด้วยวิธีการใช้กลุ่มที่แตกต่างกัน (Known-Group Technique)
ผลการวิจัยพบว่าจากการทดสอบสมมติฐานด้วยวิธีกลุ่มที่แตกต่างกัน เด็กที่มีภาวะสมองพิการแบบแข็งเกร็งครึ่งท่อนมีคะแนนน้อยกว่าเด็กปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 (Mean = 3.16, 1.48 t = 3.964 p < .001 ในการทดสอบครั้งที่ 1 และ Mean = 3.33, 1.30 t = 4.260 p < .001 ในการทดสอบครั้งที่ 2) ส่วนการประเมินความตรง แบบประเมินมีค่าดัชนีความสอดคคล้องกับจุดประสงค์อยู่ที่ 1.0 มีความตรงเชิงเนื้อหา ความสอดคล้องระหว่างผู้ประเมินด้วยสัมประสิทธิ์แคปปาในการทดสอบแต่ละครั้งอยู่ที่ระดับ 0.912 และ 0.941 ในเด็กที่มีภาวะสมองพิการ 0.823 และ 0.911 ในเด็กปกติ อย่างไรก็ตามจากการวิจัยค้นพบว่าการเรียนรู้และปัญหาด้านความใส่ใจของกลุ่มตัวอย่างส่งผลกระทบต่อคะแนนของการประเมินความใส่ใจแบบแบ่งแยกในแต่ละครั้งในการทดสอบแบบคู่ขนาน ส่งผลให้ค่าความเที่ยงในการทดสอบในเด็กที่มีภาวะสมองพิการอยู่ที่ระดับ 0.85 และเด็กปกติอยู่ที่ระดับ 0.71 สามารถสรุปได้ว่าแบบประเมินความใส่ใจแบบแบ่งแยกมีความสอดคล้องกันระหว่างผู้ประเมิน มีความตรงเพียงพอที่จะใช้ในการประเมินความใส่ใจแบบแบ่งแยกในเด็กที่มีภาวะสมองพิการแบบแข็งเกร็งครึ่งท่อน แต่ยังพบข้อจำกัดด้านการเรียนรู้และความใส่ใจซึ่งส่งผลต่อการทดสอบ ทั้งนี้การวิจัยในอนาคตควรจะมีการทดสอบหาอำนาจจำแนกของคะแนน เกณฑ์คะแนนผ่านของเด็กที่มีภาวะสมองพิการและเปรียบเทียบกับเด็กปกติ