Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของสมาชิกในครอบครัวที่ให้การสนับสนุนดูแลผู้ป่วยวัยรุ่นโรคซึมเศร้า โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความ และเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก ใช้คำถามที่มีลักษณะกึ่งโครงสร้างกับผู้เข้าร่วมวิจัย คือ ผู้ดูแลในครอบครัว จำนวน 6 คน ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการดูแลหรือกำลังให้การดูแลวัยรุ่นช่วงอายุ 13-19 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่าเป็นโรคซึมเศร้า โดยให้การสนับสนุนดูแลในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นให้กับวัยรุ่นในครอบครัว เช่น ด้านความเป็นอยู่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านอารมณ์ ด้านการรักษา หรือด้านการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 เดือน ผลการศึกษา พบประเด็นสำคัญ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การมีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการสนับสนุนดูแลวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้า 2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างให้การดูแล 3. แนวทางการปรับตัวในบทบาทของผู้ดูแล และ 4. การตกผลึกทางความคิดจากประสบการณ์ในการดูแล สรุปผลการวิจัยแสดงให้เห็นประสบการณ์ทางจิตใจของบุคคลที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนดูแลวัยรุ่นในครอบครัวที่เป็นโรคซึมเศร้า ทั้งลักษณะแนวทางในการดูแลรับมือ มุมมองความคิด อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างให้การดูแล การปรับตัวและสิ่งที่ผู้ดูแลได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังเผชิญกับอุปสรรคปัญหาในการดูแลวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงผู้ที่มีความสนใจในงานให้บริการทางด้านสุขภาพจิต เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นผู้ดูแลในครอบครัวให้กับวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้า ตลอดจนนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองและให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกในครอบครัวที่มีปัญหาทางด้านจิตใจต่อไป