Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ของเด็กอายุ 15-17 ปี ในประเทศไทยที่เข้าสู่การทำงาน รวมทั้ง รูปแบบการทำงานและชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานของแรงงานวัยเยาว์ (เด็กอายุ 15-17 ปี ที่ทำงาน) นอกจากนี้ การวิจัยนี้ยังมุ่งศึกษาปัจจัยทางประชากรในครัวเรือนและลักษณะครัวเรือนที่ส่งผลต่อการเข้าสู่การทำงานของเด็ก ตลอดจน รูปแบบการทำงานและการทำงานในชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานของแรงงานวัยเยาว์ ทั้งนี้ งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสานที่ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 3 พ.ศ. 2561 ที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและการสัมภาษณ์เชิงลึกกับแรงงานวัยเยาว์ จำนวน 27 คน
ผลการวิจัยที่สำคัญ พบว่า แรงงานวัยเยาว์ส่วนใหญ่ทำงานช่วยเหลือธุรกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง รองลงมาคือการเป็นลูกจ้าง นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานวัยเยาว์ที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยมีสัดส่วนของการทำงานในชั่วโมงที่ยาวนานมากกว่าแรงงานวัยเยาว์ที่ทำงานอย่างเดียว ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้าสู่การทำงานในรูปแบบการทำงานอย่างเดียว ได้แก่ ระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนและสมาชิกคนอื่นในครัวเรือนที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป สถานภาพสมรสของหัวหน้าครัวเรือน ความเกี่ยวพันทางญาติกับหัวหน้าครัวเรือน การขาดการเอาใจใส่ด้านการศึกษาของผู้ปกครอง สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ได้เก่ การหารายได้ที่เพียงพอเพื่อเลี้ยงครอบครัว การเป็นลูกจ้าง และการขาดทักษะชีวิตในการจัดการเวลา ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1. ควรพิจารณาปัจจัยเสี่ยงในครัวเรือนและจัดการรายกรณีสำหรับเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้องกันการหลุดออกนอกระบบการศึกษาและช่วยให้แรงงานวัยเยาว์ที่ทำงานอย่างเดียวกลับมาเรียนต่อได้ โดยอาจเป็นการทำงานควบคู่กับการเรียน 2. ควรพัฒนาทักษะการทำงานของเด็กเพื่อให้แรงงานได้มีโอกาสการทำงานที่ได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นทำให้มีชั่วโมงการทำงานที่น้อยลง 3. ควรร่วมมือกับนายจ้างในการออกแนวทางการกำหนดชั่วโมงการทำงานสำหรับแรงงานวัยเยาว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานวัยเยาว์ที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย รวมทั้งให้ครอบคลุมถึงกลุ่มเด็กที่เรียนในสายสามัญนอกเหนือจากสายอาชีพ 4. ควรพัฒนาทักษะชีวิติในการจัดการเวลาในการทำงานตั้งแต่วัยเยาว์เพื่อตอบสนองการทำงานในอนาคต