Abstract:
วัตถุประสงค์ สาเหตุหลักของการเกิดรอยโรคแอ็บแฟรกชันถูกเชื่อว่าน่าจะเกิดจากทฤษฎีชีวกลศาสตร์ (biomechanic theory) อย่างไรก็ตามทฤษฎีดังกล่าวยังคงมีการโต้แย้งกันอยู่ โดยการศึกษาที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักจะศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยภายนอก เช่น ขนาดและทิศทางของแรงที่มีผลต่อการเกิดรอยโรคแอ็บแฟรกชัน และมีการศึกษาจำนวนน้อยที่สนใจปัจจัยด้านกายวิภาคของฟัน ในการศึกษานี้จะทำการศึกษาถึงผลของมุมของปุ่มฟัน ระดับของกระดูกรอบรากฟัน และความหนาของเอ็นยึดปริทันต์ที่แตกต่างกันต่อการสะสมความเค้นดึงบริเวณคอฟัน โดยใช้วธีไฟไนต์เอลิเมนต์สองมิติ วัสดุและวิธีการศึกษา ทำการสร้างแบบจำลองสองมิติโดยใช้โปรแกรม MSC/Nastran for Windows ในการวิเคราะห์การกระจายความเค้นดึงในแบบจำลองฟันกรามน้อยบนซี่ที่หนึ่งขนาดตามค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่งมีมุมปุ่มฟันเฉลี่ยด้านใกล้แก้ม 42 องศา ด้านใกล้ลิ้น 35 องศา ระดับกระดูกอยู่ใต้รอยต่อเคลือบฟัน-เคลือบรากฟัน 2.0 มม. และ เอ็นยึดปริทันต์หนา 0.2 มม. เป็นแบบจำลองมาตรฐานพื่อใช้ในการเปรียบเทียบแบบจำลองที่มีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยดังนี้ มุมของปุ่มฟันเพิ่มขึ้นและลดลง 5 องศาเทียบกับค่าเฉลี่ยปกติ ระดับของกระดูกรอบรากฟัน 1 ถึง 4 มม. และความหนาของเอ็นยึดปริทันต์ 0.2 ถึง 0.4 มม. โดยทุกแบบจำลองถูกทดสอบด้วยแรงในแนวแกนและแรงนอกแนวแกนที่กระทำต่อปุ่มฟันด้านใกล้แก้มและใกล้ลิ้น ในปริมาณ 500 นิวตัน วัสดุทั้งหมดในแบบจำลองถูกกำหนดให้มีคุณสมบัติยืดหยุ่นเชิงเส้น คุณสมบัติเชิงกลเหมือนกันในทุกส่วน คุณสมบัติตอบสนองต่อแรงเหมือนกันทุกทิศทาง และมีการยึดติดระหว่างพื้นผิวของเนื้อเยื่อทุกชนิดเป็นแบบสมบูรณ์ ผลการศึกษา แรงนอกแนวแกนมีผลต่อปริมาณและการกระจายความเค้นดึงสะสมมากกว่าแรงในแนวแกน ทำให้เกิดความเค้นดึงสะสมบริเวณคอฟันสูงสุด โดยลักษณะการกระจายความเค้นดังกล่าวจะลดลงอย่างชัดเจน เมื่อมุมของปุ่มฟันลดลงและระดับกระดูกรอบรากต่ำลงส่วนความหนาของเอ็นยึดปริทันต์ที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเค้นในระดับที่น้อย