Abstract:
เชื้อเซอร์โคไวรัสในสุกร (porcine circovirus, PCV) เป็นเชื้อไวรัสในสกุล Circoviridae ที่ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. 1982 ในประเทศไทยมีรายงานการตรวจพบเชื้อ PCV ครั้งแรก ในสุกรอนุบาล ในปี ค.ศ. 1999 เชื้อ PCV โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ PCV type 1 (PCV1) และ PCV type 2 (PCV2) โดย PCV1 เป็นเชื้อที่ไม่ทำให้เกิดโรคในสุกร ในขณะที่ PCV2 ถูกค้นพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติหลายอย่างในสุกร เช่น ทำให้เกิดกลุ่มอาการ postweaning multisystemic wasting syndrome (PMWS) กลุ่มอาการ porcine dermatitis and nephropathy syndrome (PDNS) กลุ่มอาการความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ (porcine respiratory disease complex, PRDC) และความผิดปกติทางระบบสืบพันธุ์ (porcine reproductive disorders) ปัจจุบันอุบัติการณ์ และรูปแบบการก่อโรคของเชื้อ PCV2 มีการวิจัยจำนวนมาก อย่างไรก็ดีการวิจัยส่วนใหญ่ทำในสุกรอนุบาล และสุกรรุ่น-ขุน การวิจัยในสุกรแม่พันธุ์ และผลกระทบต่อสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ในสุกรแม่พันธุ์ยังมีน้อย โดยเฉพาะการศึกษาในภาคสนาม การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.) ศึกษาผลของการติดเชื้อ PCV2 ในฝูงสุกรพ่อแม่พันธุ์ต่อสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ในสุกรสาวและแม่สุกร 2.) ศึกษาประสิทธิภาพของการใช้วัคซีน PCV2 ในสุกรอุ้มท้องต่อสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ในสุกร และ 3.) เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ของเชื้อ PCV2 ในลูกสุกรแท้ง มัมมี่ และตายแรกคลอด ทำการศึกษาในฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์ขนาด 1,700 แม่ แห่งหนึ่งในประเทศไทย ศึกษาผลของการทำวัคซีน PCV2 ในสุกรสาวทดแทน และแม่สุกรอุ้มท้องต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยทำการสุ่มเจาะเลือดแม่สุกรหลังการทำวัคซีนที่ 0 2 4 และ 6 สัปดาห์ และทำการติดตามสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ในสุกรสาวและแม่สุกรภายหลังการทำวัคซีน อวัยวะทางระบบสืบพันธุ์ทั้งภายนอกและภายใน ประกอบด้วย รังไข่ และ มดลูก ถูกเก็บจากสุกรสาวที่ถูกส่งโรงฆ่าสัตว์ และตัวอย่างลูกสุกรแท้ง (n=14) มัมมี่ (n=17) และตายแรกคลอด (n=9) ถูกเก็บมาจากฟาร์มสุกรที่พบปัญหาในภาคสนาม ทั้งหมดถูกนำมาตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัส PCV2 ด้วยวิธี polymerase chain reaction (PCR) ทำการตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส PCV-2 โดยใช้ชุดทดสอบ ELISA ผลการทดลองพบว่าดีเอ็นเอของเชื้อเซอร์โคไวรัสชนิดที่ 2 ในสุกรถูกตรวจพบใน 92.5% (37/40 ตัวอย่าง) ของเนื้อเยื่อที่ทำการตรวจ โดยพบว่าดีเอ็นเอของเชื้อเซอร์โคไวรัสชนิดที่ 2 ในสุกรถูกตรวจพบใน 92.8% (13/14 ตัวอย่าง) ของตัวอ่อนที่แท้ง 94.1% (16/17 ตัวอย่าง) ของมัมมี่ และ 88.8% (8/9 ตัวอย่าง) ของลูกสุกรตายแรกคลอด (P>0.05) การทำวัคซีนป้องกันโรคเซอร์โคไวรัสชนิดที่ 2 ในสุกรช่วยลดความแปรปรวนของระดับแอนติบอดีทั้งในสุกรสาวและสุกรนางโดยค่าสัมประสิทธิ์ของความแปรปรวน ลดลงจาก 38.9% ก่อนการฉีดวัคซีน เหลือ 23.5% 20.2% และ 18.0% ภายในเวลา 2 4 และ 6 สัปดาห์ ตามลำดับ สมรรภาพทางการสืบพันธุ์ของทั้งสุกรสาวและสุกรนางภายหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเซอร์โคไวรัสชนิดที่ 2 ในสุกร ครั้งแรกยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) ดีเอ็นเอของเชื้อไวรัส PCV2 ถูกตรวจพบใน 45% (46/102) ของมดลูก และใน 30% (21/70) ของรังไข่ ในการศึกษาครั้งนี้บ่งชี้ว่าเชื้อ PCV2 อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความล้มเหลวทางการสืบพันธุ์ในภาคสนาม จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างระมัดระวังเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของเชื้อ PCV2 ต่อการทำงานของทั้งรังไข่และมดลูกในสุกรสาวต่อไป