Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาวิวัฒนาการและคุณูปการของโขนสมัครเล่นในกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325-2561) และ ศึกษากระบวนการจัดการองค์กรโขนสมัครเล่น ผู้ศึกษาใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน ในการค้นคว้าและรวบรวมเอกสารทั้งชั้นต้น และชั้นรอง การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การสังเกตการณ์ และสนทนากลุ่มย่อยกับผู้ทรงคุณวุฒิตามศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง จากการศึกษาพบว่า กลุ่มคนที่เป็นปัจจัยในวิวัฒนาการของโขนสมัครเล่น คือ ผู้จัดการแสดง ผู้แสดง ครูผู้สอน และผู้สนับสนุน และพิจารณาการวิวัฒนาการของโขนสมัครเล่นได้จากการจัดการแสดง คือ วัตถุประสงค์ การเรียนการสอน โอกาสในการจัดการแสดง งบประมาณ บทโขน และเครื่องแต่งกาย วิวัฒนาการและคุณูปการของโขนสมัครเล่นแบ่งได้เป็น 4 ยุค ยุคที่ 1 อยุธยา และธนบุรี พ.ศ. 1893-2325 วิวัฒนาการ : ยุคกำเนิดวางรากฐาน บทโขน และรูปแบบการแสดง คุณูปการ : ด้านพิธีกรรม การปกครอง และการทหาร ยุคที่ 2 รัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2452 วิวัฒนาการ : ด้านหน่วยงานที่รับผิดชอบ เนื้อเรื่องรามเกียรติ์ บทพากย์ และเทคโนโลยีการจัดการแสดงคุณูปการ : การพัฒนารูปแบบ บทโขนโรงในยุคต่อมา โอกาสในการแสดง และสร้างงาน ยุคที่ 3 รัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2452-2488 วิวัฒนาการ : ครูโขนมีบรรดาศักดิ์ ผลิตทั้งศิลปินโขนอาชีพกับโขนสมัครเล่น เล่นตามสมัครใจ บทสั้นกระชับ และชุดราชประดิษฐ์ คุณูปการ : ต้นแบบของการอนุรักษ์ การศึกษานาฎศิลป์ บทโขนโรงใน และรูปแบบการจัดการแสดงยุคต่อมา ยุคที่ 4 รัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2488-2561 วิวัฒนาการ : โขนย้ายจากหลวงมาสู่รัฐ บทโขนโรงในแบบกรมศิลปากร และเกิดโขนสมัครเล่นในหลายองค์กรคุณูปการ : ยกย่องพระมหากษัตริย์ เป็นสื่อในเรื่องการเมือง การทูต และเป็นส่วนสำคัญทำให้โขนไทยได้รับการยอมรับในระดับโลก กระบวนการจัดการองค์กรโขนสมัครเล่น สามารถแบ่งได้ 5 รูปแบบ 1) โขนสมัครเล่นหลวง 2) โขนสมัครเล่นขุนนาง 3) โขนสถาบันการศึกษาสายสามัญ 4) โขนโรงเรียนนาฎศิลป์สมัครเล่น และ 5) โขนสมัครเล่นรวมกันเฉพาะกิจ มีลักษณะร่วมกันคือ ทำการแสดงเพื่อเชิดชูพระมหากษัตริย์และอนุรักษ์สืบทอด แสดงเรื่องรามเกียรติ์ และมีครูโขนอาชีพเป็นผู้ฝึกสอนแทบทั้งหมด ส่วนที่แตกต่างคือ โขนสมัครเล่นหลวง แสดงตามพระราชประสงค์ พระมหากษัตริย์หรือเจ้ากรมโขนเป็นผู้จัดการแสดง ผู้แสดงคือ มหาดเล็กกับตำรวจวัง และใช้บทโขนสำนวนหลวง โขนสมัครเล่นขุนนาง ตั้งเพื่อประดับเกียรติ และเป็นอาชีพเสริม เจ้าของคณะจัดการแสดง ผู้แสดงคือดีตนักเรียนโรงเรียนพรานหลวง และผู้ประกอบอาชีพอื่น ใช้บทโขนกรมมหรสพเดิมและกรมศิลปากร โขนสถาบันการศึกษาสายสามัญ และโขนโรงเรียนนาฏศิลป์สมัครเล่น ตั้งเพื่อพัฒนาผู้เรียนจัดการแสดงโดยครูโขนหรือบุคลากรภายในองค์กร ส่วนใหญ่แสดงโดยผู้เรียนภายในองค์กร และบางส่วนเปิดรับผู้เรียนภายนอก ใช้บทโขนกรมศิลปากรมาปรับให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้แสดง โขนสมัครเล่นรวมกันเฉพาะกิจ ตั้งเพื่องานบุญและเป็นอาชีพเสริม จัดการแสดงโดยผู้นำองค์กร (โต้โผ) หรือตัวผู้แสดงเอง ผู้แสดงเป็นโขนสมัครเล่นหลายแห่งมารวมกัน แสดงตอนที่เป็นที่นิยมและสามารถแสดงได้เลยโดยไม่ต้องฝึกซ้อมมาก โขนสมัครเล่น เปรียบเสมือนอุบาสก อุบาสิกาที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำบุญใส่บาตร และสนับสนุนพระสงฆ์ ให้ดำรงอยู่ ศึกษาพระธรรม เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และรักษาแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา เฉกเช่นโขนสมัครเล่นที่ศึกษาโขน ทำนุบำรุง และสนับสนุนนักแสดงโขนอาชีพให้ได้ทำการแสดง พัฒนา และเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และรักษาแก่นแท้ของโขนสืบไป