Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยผสมผสานที่เน้นกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม เพื่อร่วมพัฒนากลไกในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงอาหารตามกรอบเมืองสร้างสรรค์ ร่วมค้นหาศักยภาพเชิงคุณค่าจากภูมิปัญญาและห่วงโซ่คุณค่าอาหารยั่งยืน ตลอดจนร่วมจัดและทดลองจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพื่อร่วมกำหนดประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ การประเมินศักยภาพและจัดทำข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเมืองจันทบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารตามกรอบยูเนสโก ผลการศึกษา พบว่า การขับเคลื่อนจันทบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีเป็นเจ้าภาพและให้การสนับสนุน โดยมีกลไกขับเคลื่อน 3 ระดับ ได้แก่ 1) คณะกรรมการบริหารการท่องเที่ยวในระดับจังหวัด (DMO) เป็นกลไกเชื่อมโยงในระดับจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ 2) คณะทำงานการขับเคลื่อนจังหวัดจันทบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์วิทยาการอาหาร (DMC) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเชิงกิจกรรม และประสานความร่วมมือกับกลไกต่างๆ และ 3) “เสน่ห์จันท์” เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเชิงประเด็นในรูปแบบบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม ผลการศึกษาศักยภาพเชิงคุณค่าและทดลองจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอาหารชี้ให้เห็นว่าจันทบุรีมีความมั่นคงทางอาหารจากการมีภูมินิเวศการผลิตที่ดี (ภูผา - มหานที) และมีอาหารพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์หลากหลายที่เกิดจากรากทางวัฒนธรรมอันยาวนาน (ประเพณี - วิถีจันท์) สู่การเสนอประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ “อาหารสมุนไพรป่าฝนเขตร้อนจันทบูร” ที่สร้างสรรค์อย่างสมดุลและยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจันทบุรีให้เป็น “เมืองแห่งความมั่นคงและยั่งยืนทางอาหาร” ในอนาคต การประเมินศักยภาพตามเกณฑ์เมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก พบว่า จันทบุรีมีวัตถุดิบเมนูอาหารพื้นถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์และมีความหลากหลาย ที่ยังคงรักษาถ่ายทอดและมีการปรับตัวอาหารพื้นถิ่นในการส่งเสริมการท่องเที่ยวจนเป็นอัตลักษณ์และมีชื่อเสียง มีแนวทางและต้นแบบในการพัฒนาอาหารและกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังปรากฏการจัดเทศกาลอาหารเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการขับเคลื่อนเมืองจันทบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร มีแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ 6 แนวทางหลัก ดังนี้ 1) การสร้างการรับรู้ให้กับคนภายในและภายนอกจันทบุรี 2) การส่งเสริม วิจัย การเรียนรู้ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อการท่องเที่ยว 3) การเสริมสร้างสมรรถนะ ความพร้อมด้านแรงงานและบุคลากรเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงอาหารยั่งยืน 4) การสร้างพื้นที่หรือกิจกรรมเมืองการท่องเที่ยวเชิงอาหารยั่งยืน 5) การส่งเสริมและพัฒนาการตลาดสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอาหารยั่งยืน และ6) สร้างความร่วมมือและสนับสนุนธุรกิจ-การศึกษา-ชุมชน เพื่อหนุนเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอาหารสร้างสรรค์