Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์เชิงบรรยายเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกกลัวความก้าวหน้าของความเจ็บป่วยในผู้ป่วยหลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรก กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันครั้งแรก จำนวน 213 คน มาตรวจตามนัดที่แผนกผู้ป่วยนอกระบบหัวใจและหลอดเลือดหลังจากจำหน่ายจากโรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลศิริราช คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 6 ส่วน คือ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินการรับรู้อาการเจ็บหน้าอก 3) แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจฉบับย่อ 4) แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม 5) แบบประเมินการรับรู้สมรรถนะแห่งตน และ 6) แบบสอบถามความรู้สึกกลัวความก้าวหน้าของโรคฉบับย่อ ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ค่าความเที่ยงของเครื่องมือเท่ากับ .99, .71, .89, .88 และ .89 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการทดสอบค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้
1. กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยหลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกมีคะแนนเฉลี่ยการสนับสนุนทางสังคมอยู่ในระดับสูง (Mean = 62.54, SD = 11.74) ส่วนความรุนแรงของโรค ความรู้ การรับรู้สมรรถนะแห่งตน และความรู้สึกกลัวความก้าวหน้าของความเจ็บป่วยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง (Mean = 11.36, SD = 5.67; Mean = 11.34, SD = 3.49; Mean = 31.52, SD = 7.31 และ Mean = 26.93, SD = 10.22 ตามลำดับ)
2. การรับรู้สมรรถนะแห่งตนมีความสัมพันธ์ทางลบกับความรู้สึกกลัวความก้าวหน้าของความเจ็บป่วยในผู้ป่วยหลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.367)