Abstract:
บทความนี้มุ่งศึกษากระบวนการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394-2411) รวบรวมข้อมูลจากเอกสารชั้นต้นประเภทเอกสารลายลักษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้กรอบทฤษฎีสังคมวิทยาวัฒนธรรม ประกอบกับเอกสารทุติยภูมิ ผลการศึกษาพบว่า (1) บุคลากรในการออกแบบและก่อสร้างมี 5 กลุ่มหลัก คือ แม่กอง นายช่าง นายด้าน-นายงาน ผู้รับเหมา และแรงงาน โดยสามกลุ่มแรกและแรงงานเลกไพร่เป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ในสังคมแบบจารีต ส่วนบุคลากรกลุ่มใหม่ คือ ผู้รับเหมาและแรงงานชาวจีน ซึ่งเริ่มทดแทนระบบเลกไพร่ และเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในระบบภาษีและการค้ากับต่างประเทศที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 (2) กระบวนการผลิตและจัดหาวัสดุก่อสร้างเป็นการเกณฑ์ส่วยตามระบบจารีต ควบคู่กับการนำเข้าวัสดุใหม่ ๆ จากต่างประเทศ ขณะที่การขนส่งวัสดุยังใช้พาหนะแบบโบราณ แต่ก็เริ่มมีการใช้เรือกลไฟช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งวัสดุก่อสร้าง และ (3) ขั้นตอนในการออกแบบและก่อสร้างยังคงเป็นระบบจารีต พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์กลางของสังคม พระราชนิยมจึงส่งผลต่อสถาปัตยกรรมในหลายมิติ ทั้งการก่อสร้างพระราชวังและพระอารามตามหัวเมือง การรื้อฟื้นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณ ควบคู่ไปกับการรับสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบตะวันตก