Abstract:
บทความฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย เรื่อง พระอินทร์ในนาฏกรรมไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทการแสดงตัวละครพระอินทร์ในนาฏกรรมไทย โดยมุ่งเน้นการศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำหนดบทบาทของพระอินทร์ในนาฏกรรมไทย วิธีดำเนินการวิจัยใช้การศึกษาค้นคว้าจากหนังสือ ตำรา วิทยานิพนธ์ บทความ เอกสารสำคัญทางวรรณคดี และบทประกอบการแสดงนาฏกรรมของกรมศิลปากร การชมการแสดง การสัมภาษณ์ ผลการศึกษาพบว่า บทบาทพระอินทร์ปรากฏอยู่มากในนาฏกรรมไทยที่สำคัญ คือ โขนและละคร ในนาฏกรรมโขนพระอินทร์ปรากฏบทบาทในฐานะเทพชั้นรองที่รับคำสั่งจากพระอิศวรให้ไปปฏิบัติภารกิจ บทบาทในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือประทานสิ่งของให้ตัวละคร และบทบาทในฐานะประธานการทำพิธีต่างๆ ของตัวละคร ส่วนบทบาทพระอินทร์ในนาฏกรรมละครที่เด่นชัดที่สุดคือบทบาทความเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือตัวละครที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำหนดบทบาทของพระอินทร์ในนาฏกรรมไทย มี 2 ปัจจัย ได้แก่ 1) ปัจจัยทางด้านศาสนา 2) ปัจจัยทางด้านวรรณคดี ความสำคัญของพระอินทร์ในศาสตร์ด้านนาฏกรรมอันเป็นความเชื่อมาจากตำรานาฏยศาสตร์คือการโบกธงเพื่อปัดเสนียดจัญไรของการแสดงละครชาตรี และยังมีการใช้ศีรษะโขนหน้าพระอินทร์มาร่วมในพิธีไหว้ครูโขนละครของบางสำนัก ชุดการแสดงที่สำคัญและได้รับความนิยมสำหรับตัวละครพระอินทร์คือการแสดงโขน ตอนศึกพรหมมาศ การแสดงละครเรื่องสังข์ทอง ตอนตีคลี และการแสดงละครเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ตอนตกเหว