Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ผ่านสื่อแต่ละประเภท ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ผ่านสื่อแต่ละประเภท และความสัมพันธ์ของการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ผ่านสื่อแต่ละประเภทกับคุณภาพชีวิตประชากรไทยอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ในการวิจัยเชิงปริมาณใช้ข้อมูลจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2560 และ 2564 กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาคือ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
ผลการศึกษาพบว่า ประชากรอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 91.23 และอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ92.87 เปิดรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองผ่านสื่ออย่างน้อย 1 ประเภท โดยจะเปิดรับสื่อแต่ละประเภทในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน และมีปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ผ่านสื่อแต่ละประเภทแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม สื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ประชากรทั้ง 2 กลุ่ม เปิดรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อประเภทอื่น ทั้งนี้อาจเนื่องจากในระหว่างปี พ.ศ. 2560 และ 2564 มีสถานการณ์การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันตนเอง นำไปสู่การเพิ่มบทบาทการใช้สื่อออนไลน์ในชีวิตประจำวันของประชากรในทุกกลุ่มวัย นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่าการเปิดรับสื่อประเภทต่างๆมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของประชากรไทยอายุ 50 ปีขึ้นไปในด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ การมีส่วนร่วม และ การมีหลักประกันและความมั่นคงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่มประชากรอายุ 50-59 ปี การเปิดรับเฉพาะโทรทัศน์ มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตด้านการมีหลักประกันและความมั่นคง ขณะที่การเปิดรับเฉพาะสื่อบุคคล มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพใจและการมีส่วนร่วม และการเปิดรับเฉพาะสื่อออนไลน์ จะมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตในด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการมีส่วนร่วม เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่เปิดรับสื่อประเภทใดเลย ในขณะที่กลุ่มประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า การเปิดรับเฉพาะโทรทัศน์ มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตด้านการมีสุขภาพกาย การมีส่วนร่วม และการหลักประกันและความมั่นคง ขณะที่การเปิดรับเฉพาะสื่อบุคคล มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตด้านการมีส่วนร่วม และการเปิดรับเฉพาะสื่อออนไลน์ มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกาย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เปิดรับสื่อประเภทใดเลย ทั้งนี้การเปิดรับสื่อที่มีความหลากหลายจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชากรอายุ 50 ปีขึ้นไปดีขึ้น ทั้งในมิติด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ การมีส่วนร่วม และการมีหลักประกันและความมั่นคง โดยปัจจัยด้านประเภทสื่อที่เปิดรับและความหลากหลายของสื่อมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของประชากรไทยอายุ 50 ปีขึ้นไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ