Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาและตรวจสอบโมเดลเชิงสาเหตุของแหล่งความเครียดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมและกลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมต่อสุขภาวะของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีที่ศึกษาในหลักสูตรนานาชาติ (2) ศึกษาบทบาทของการสนับสนุนทางสังคมในโมเดลเชิงสาเหตุดังกล่าว กลุ่มตัวอย่าง คือ นิสิตนักศึกษาปริญญาตรี 207 คน (หญิง 127 คน ชาย 80 คน) อายุเฉลี่ย 21.68 + 2.11 ปี ระยะเวลาที่อาศัยในประเทศไทยเฉลี่ย 1.47+1.44 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ มาตรวัดแหล่งความเครียดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรม มาตรวัดกลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรม มาตรวัดการสนับสนุนทางสังคม และมาตรวัดสุขภาวะ เก็บข้อมูลทั้งแบบกระดาษและแบบออนไลน์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการสร้างสมการโครงสร้าง (Structural Equation Modeling) และการทดสอบโมเดลแข่งขัน ผลการวิจัยพบว่าโมเดลเชิงสาเหตุของแหล่งความเครียดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมและสุขภาวะของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีที่ศึกษาในหลักสูตรนานาชาติ ที่มีกลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมเป็นตัวแปรส่งผ่าน มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Chi-square = 44.167, df = 34, p = .114, SRMR = 0.059, RMSEA = 0.038, CFI = 0.989) และในการวิเคราะห์โมเดลแข่งขัน พบว่าโมเดลเชิงสาเหตุของแหล่งความเครียดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมและสุขภาวะของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีที่ศึกษาในหลักสูตรนานาชาติ ที่มีกลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมเป็นตัวแปรส่งผ่าน โดยที่การสนับสนุนทางสังคมส่งผลต่อสุขภาวะผ่านกลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรม เป็นโมเดลที่ดีที่สุด (Chi-square = 66.675, df = 50, p = .057, SRMR = 0.071, RMSEA = 0.040, CFI = 0.986) นอกจากนี้ผลการวิจัยยังบ่งชี้ว่า เมื่อนักศึกษาชาวต่างชาติเผชิญกับแหล่งความเครียดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่มากขึ้น กลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมที่มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้ คือ กลยุทธ์การแยกตัว และเมื่อได้รับการสนับสนุนทางสังคมมากขึ้น กลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมที่นักศึกษาชาวต่างชาติมีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้ คือ กลยุทธ์การบูรณาการ นอกจากนี้การสนับสนุนทางสังคมส่งผลทางอ้อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อสุขภาวะผ่านกลยุทธ์การผสมผสานทางวัฒนธรรมเฉพาะด้านการยึดมั่นต่อวัฒนธรรมสังคมถิ่นฐาน