Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาและตรวจสอบโมเดลเชิงสาเหตุของการให้อภัยตนเองในเยาวชนผู้กระทำผิด และศึกษาอิทธิพลของการให้อภัยตนเองต่อความสุขเชิงอัตวิสัย ในเยาวชนผู้กระทำผิดและครอบครัว กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เยาวชนผู้กระทำผิดที่อยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน จำนวน 1,031 คน และ เยาวชนผู้กระทำผิดและครอบครัว จำนวน 120 คู่ เก็บข้อมูลโดยการให้เยาวชนตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง และการสอบถามครอบครัวทางโทรศัพท์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการสมการโครงสร้างผ่านโปรแกรมลิสเรล (LISREL) และวิเคราะห์แบบจำลองรายคู่แบบไขว้โดยใช้การวิเคราะห์แบบ The Actor-Partner Interdependence Model ผลการศึกษาพบว่าโมเดลการให้อภัยตนเองของเยาวชนผู้กระทำผิดที่ประกอบด้วยการตำหนิตนเองและผู้อื่น การรับรู้ความรุนแรงของการกระทำผิด ความรู้สึกผิด ความละอาย ความเข้าใจอย่างร่วมรู้สึก พฤติกรรมเชิงประนีประนอม และการรับรู้การอภัยจากผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (χ2 =68.84, df =53, p = 0.071, GFI = 0.992, AGFI = 0.979, RMR = 0.0257, RMSEA = 0.0170) ตัวแปรทั้งหมดในสมการสามารถอธิบายความแปรปรวนของการให้อภัยตนเองได้ร้อยละ 41 โดยเยาวชนที่มีคะแนนการตำหนิตนเองและผู้อื่นสูง ร่วมกับมีความละอายใจสูง มีความเข้าใจร่วมรู้สึกต่ำ ไม่มีพฤติกรรมเชิงประนีประนอม และไม่ได้ได้รับการอภัยจากผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ จะมีการให้อภัยตนเองต่ำ (ค่าอิทธิพลเท่ากับ -.09, p <.001) ส่วนแบบจำลองรายคู่แบบไขว้อิทธิพลของการให้อภัยตนเองต่อความสุขเชิงอัตวิสัย ในเยาวชนผู้กระทำผิดและครอบครัว มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (χ2 = 15.627, df =11, p = 0.156, GFI = 0.972, AGFI = 0.872, RMR = 0.042, RMSEA = 0.059) ตัวแปรในโมเดลคือการให้อภัยตนเองในเยาวชนผู้กระทำผิดและครอบครัว สามารถอธิบายความแปรปรวนความสุขเชิงอัตวิสัยของเยาวชนผู้กระทำผิดได้ ร้อยละ 87.4 และอธิบายความแปรปรวนความสุขเชิงอัตวิสัยของครอบครัว ร้อยละ 84 โดยอิทธิพลร่วม (Interdependent effects) ระหว่างการให้อภัยตนเองและความสุขเชิงอัตวิสัยของเยาวชนผู้กระทำผิดและครอบครัวมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ในส่วนอิทธิพลทางตรง (Actor effects) ทั้งการให้อภัยตนเองของเยาวชนผู้กระทำผิดและครอบครัว ต่างมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขเชิงอัตวิสัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (b = 0.59 และ 0.25 p<.01 ตามลำดับ) ด้านอิทธิพลไขว้ (Partner effect) การให้อภัยตนเองของเยาวชนผู้กระทำผิดมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขเชิงอัตวิสัยของครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (b = 0.60 p<.01) และทำนองเดียวกันการให้อภัยตนเองของครอบครัวมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขเชิงอัตวิสัยของเยาวชนผู้กระทำผิดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (b = 0.28 p<.05)