Abstract:
พฤติกรรมแยกขยะพลาสติกในครัวเรือนเป็นพฤติกรรมที่มีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในระยะยาวในยุคที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ปัจจุบันยังขาดองค์ความรู้โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่สนับสนุนและขัดขวางการเกิดพฤติกรรมแยกขยะ ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาปัจจัยตามทฤษฎีพฤติกรรมตามแผนและปัจจัยการพิจารณาผลลัพธ์ในอนาคตที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมแยกขยะพลาสติกในครัวเรือนโดยเน้นศึกษาขยะพลาสติก 3 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร และกล่องพลาสติกบรรจุอาหาร กลุ่มตัวอย่าง (n = 126) ได้แก่ ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครอย่างน้อย 1 ปี ทำการตอบแบบสอบถามการวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ และรายงานพฤติกรรมแยกขยะพลาสติกในครัวเรือนใน 2 สัปดาห์ต่อมา ผลจากการวิจัยพบว่า การรับรู้การควบคุมพฤติกรรมมีอิทธิพลทางบวกต่อพฤติกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านเจตนาต่อพฤติกรรม โดยการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงมีอิทธิพลทางอ้อมผ่านเจตนาต่อพฤติกรรมเท่านั้น อย่างไรก็ตามพบปัจจัยที่ไม่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมโดยมีเจตนาต่อพฤติกรรมเป็นตัวแปรส่งผ่าน ได้แก่ เจตคติต่อพฤติกรรมและการพิจารณาผลลัพธ์ในอนาคต และพบว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจตคติต่อพฤติกรรมและการรับรู้การควบคุมพฤติกรรม และ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงและการรับรู้การควบคุมพฤติกรรม ไม่สามารถทำนายเจตนาต่อพฤติกรรมได้ โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมแยกขยะพลาสติกในครัวเรือนมากที่สุด ได้แก่ การรับรู้การควบคุมพฤติกรรม โดยกลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อว่าการมีพื้นที่สำหรับแยกขยะพลาสติกในครัวเรือน การมีถังขยะของส่วนกลางรองรับ และการได้รับรู้ว่าการแยกขยะพลาสติกในครัวเรือนก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านใดบ้างเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมแยกขยะพลาสติกในครัวเรือนได้