Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่สามารถทำนายความพึงพอใจในชีวิตสมรสของผู้หญิงแต่งงานแล้ว ผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นผู้หญิง จำนวน 160 คน ที่มีอายุ 40–60 ปี มีสถานะแต่งงานแล้วหรือมีการใช้ชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยาเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์ซึ่งประเมินการมีลูก รูปแบบความผูกพันแบบวิตกกังวล รูปแบบความผูกพันแบบหลีกหนี บทบาททางเพศ ความใกล้ชิดทางอารมณ์ ระยะเวลาในการใช้ชีวิตสมรส ประเภทของครอบครัว การรับรู้การตอบสนองของคู่สัมพันธ์ และความพึงพอใจในชีวิตสมรส
จากผลการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุคูณ พบว่า ร้อยละ 39.10 (R2 = 0.391) ของความพึงพอใจในชีวิตสมรสสามารถอธิบายได้ด้วย การรับรู้การตอบสนองของคู่สัมพันธ์ (B = 2.179) และรูปแบบความผูกพันแบบหลีกหนี (B = -1.095) จากการศึกษา สามารถอธิบายได้ว่า ความพึงพอใจในชีวิตสมรสของผู้หญิงมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการรับรู้ของผู้หญิงที่มีต่อการตอบสนองของคู่สัมพันธ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และมีความสัมพันธ์เชิงลบกับรูปแบบความผูกพันแบบหลีกหนีของผู้หญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001