Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ได้แก่ เพศสภาพ การตั้งเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์แบบมุ่งเน้นความเชี่ยวชาญ การตั้งเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์แบบหลีกเลี่ยงความไม่เชี่ยวชาญ การตั้งเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์แบบมุ่งเน้นการแสดงความสามารถ การตั้งเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์แบบหลีกเลี่ยงการแสดงความด้อยความสามารถ การอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาแบบห่วงใย การอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาแบบปกป้องมากเกินไป การรับรู้คุณค่าในตนเอง การรับรู้ความสามารถของตนเอง และลักษณะบุคลิกภาพแบบต้องการความสมบูรณ์แบบ โดยมีสมมติฐานการวิจัยว่าปัจจัยที่สัมพันธ์ทั้งหมดดังกล่าวสามารถร่วมกันทำนายความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถของนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล กลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐ 5 อันดับแรกของประเทศไทย ทุกชั้นปี อายุตั้งแต่ 18-25 ปี ที่สามารถอ่านทำความเข้าใจภาษาไทยได้ จำนวน 309 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา โดยใช้ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงอนุมาน โดยใช้ค่าสหสัมพันธ์เพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุคูณแบบนำตัวแปรเข้าทุกตัวแปร ผลการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุคูณพบว่าตัวแปรทำนายทั้งหมดสามารถร่วมกันทำนายความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถของนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้ร้อยละ 41.60 โดยคะแนนลักษณะบุคลิกภาพแบบต้องการความสมบูรณ์แบบสามารถทำนายได้มากที่สุด (β = .493, p < .01) รองลงมาคือ การรับรู้คุณค่าในตนเอง (β = -.195, p < .01) และการรับรู้ความสามารถของตนเอง (β = -.161, p < .01) ตามลำดับ
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า แม้นักศึกษาที่นับว่าเรียนเก่งจนสามารถผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐ ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถได้มาก เนื่องจากมีลักษณะบุคลิกภาพแบบต้องการความสมบูรณ์แบบสูง มีการรับรู้คุณค่าในตนเองต่ำ และมีการรับรู้ความสามารถของตนเองต่ำ