Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเหนื่อยหน่ายของคู่ชีวิตของผู้ป่วยจิตเภท และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง เพศ ระยะเวลาในการดูแลผู้ป่วย สัมพันธภาพระหว่างผู้ป่วยกับคู่ชีวิต ความเครียด การสนับสนุนทางสังคม ภาระการดูแลผู้ป่วย การรับรู้การถูกตีตราของคู่ชีวิต ด้านผู้ป่วยเป็นอาการทางบวก และอาการทางลบ กับความเหนื่อยหน่ายของคู่ชีวิตของผู้ป่วยจิตเภท กลุ่มตัวอย่าง คือ คู่ชีวิตของผู้ป่วยโรคจิตเภทที่เข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาลจิตเวชและโรงพยาบาลระดับตติยภูมิที่มีแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 180 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของคู่ชีวิตของผู้ป่วยจิตเภท แบบประเมินความเหนื่อยหน่ายของคู่ชีวิตของผู้ป่วยจิตเภท แบบวัดการรับรู้ความเครียด แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม แบบประเมินสัมพันธภาพของคู่ชีวิตกับผู้ป่วยจิตเภท แบบประเมินความรู้สึกเป็นภาระการดูแลผู้ป่วย แบบประเมินการรับรู้ตราบาป แบบประเมินอาการทางบวกผู้ป่วยจิตเภท และแบบประเมินอาการทางลบผู้ป่วยจิตเภท แบบสอบถามทุกชุดได้รับการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน และคำนวณค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคได้เท่ากับ .85, .94, .92, .75, .94, .98, .89 และ .82 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบทีและสถิติค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการวิจัยสรุปได้ว่า 1. ระดับความเหนื่อยหน่ายของคู่ชีวิตผู้ป่วยจิตเภท ด้านอาการอ่อนล้าทางอารมณ์อยู่ในระดับต่ำ (Mean=11.02, SD=10.83) ด้านการมองข้ามความเป็นบุคคลของผู้ป่วยและผู้อื่นอยู่ในระดับปานกลาง (Mean=6.36, SD=8.06) และด้านความไม่สมหวังในผลสำเร็จของผู้ดูแลอยู่ในระดับสูง (Mean=13.45, SD=9.64) 2. สัมพันธภาพผู้ป่วยกับคู่ชีวิต และการสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางลบกับความเหนื่อยหน่ายของคู่ชีวิตผู้ป่วยโรคจิตเภทในระดับต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= -0.450) และ -.154 ตามลำดับ) 3. อาการทางลบมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเหนื่อยหน่ายของคู่ชีวิตผู้ป่วยโรคจิตเภท ในระดับต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= .305) 4. อาการทางบวกมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเหนื่อยหน่ายของคู่ชีวิตผู้ป่วยโรคจิตเภท ในระดับปานกลาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= .509) 5. ภาระการดูแลผู้ป่วยและการรับรู้การรถูกตีตราของคู่ชีวิตมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเหนื่อยหน่ายของคู่ชีวิตผู้ป่วยโรคจิตเภทในระดับสูง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= .779 และ .711 ตามลำดับ) 6. ความเครียดมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเหนื่อยหน่ายของคู่ชีวิตผู้ป่วยโรคจิตเภทในระดับสูงมาก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= .819)
7. เพศและระยะเวลาในการดูแลผู้ป่วยไม่มีความสัมพันธ์กับความเหนื่อยหน่ายของคู่ชีวิตผู้ป่วยโรคจิตเภท